กรุงเทพฯ 28 มี.ค. – “กฤษฎา” จี้ทุกหน่วยงานช่วยเกษตรกรทั่วประเทศ ปีนี้เข้าสู่ฤดูฝนช้า เผยนายกฯ ห่วงพื้นที่นอกเขตชลประทาน สั่งกระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนน้ำอุปโภค-บริโภค
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมทุกหน่วยงานเพื่อประเมินสถานการณ์ภัยแล้งและความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือบรรเทาภัยให้แก่เกษตรกรและประชาชน โดยกล่าวว่า ได้เร่งติดตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งทั้งปี 2561/2562 และ ปี2562/63 เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมต้องวางแผนต่อเนื่อง 2 ปี สำหรับปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนช้า คาดว่าจะเริ่มตกปลายเดือนพฤษภาคม ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงห่วงใยประชาชน ซึ่งฤดูแล้งยังคงมีระยะเวลาอีก 2 เดือน
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมชลประทานเกี่ยวกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ รวมทั้งกำชับให้ทุกหน่วยงานบูรณาการกับส่วนราชการอื่นเพื่อช่วยเหลือประชาชน สำหรับในเขตชลประทานยืนยันว่ามีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคและบริโภค อีกทั้งจัดสรรน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ขณะนี้ปัญหาการปลูกข้าวนาปรังเกินแผนได้ใช้กลไกคณะอนุกรรมการพัฒนาเกษตรและสหกรณ์จังหวัด (อ.พ.ก.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน หัวหน้าหน่วยราชการสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นกรรมการ จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปทำความเข้าใจกับเกษตรกรไม่ให้ทำนาปรังรอบที่ 2 ซึ่งสามารถลดอัตราการปลูกข้าวต่อเนื่องได้แล้ว ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้กำหนดแผนป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชน โดยมอบหมายให้กรมชลประทานสนับสนุนพื้นที่ประสบภัย หากพื้นที่แล้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำชลประทาน ทางโครงการชลประทานพื้นที่จะใช้เครื่องมือเครื่องจักรชักน้ำมาให้ กรณีที่มีแหล่งน้ำใต้ดินจะประสานกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาขุดเจาะ แต่หากไม่มีแหล่งน้ำเลยจะใช้รถบรรทุกน้ำขนส่งน้ำไปช่วยเหลือซึ่งกรมชลประทานจัดสรรไปครอบคลุมทุกพื้นทีเสี่ยงแล้ว
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เฝ้าระวังเขื่อนน้ำน้อยวิกฤติ 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนแม่มอก เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนลำนางรอง เขื่อนลำพระเพลิง ทั้งนี้ เขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำใช้การได้เหลือร้อยละ 2 ได้มีมตินำน้ำก้นเขื่อนมาใช้ 90 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.ถึง สิ้นเดือน พ.ค. โดยสถานการณ์ปีนี้รุนแรงน้อยกว่าปี 2559 เคยนำน้ำก้นเขื่อนมาใช้ 120-130 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน มีปัญหาขาดน้ำอุปโภค บริโภค 7 จังหวัด คือ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย กาญจนบุรี ราชบุรี ได้ประสานกับทางจังหวัด กองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำบัญชีรายตำบล อำเภอ ปริมาณน้ำบ่อบาดาลในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก เตรียมจัดหาน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาช่วยเหลือและมีรถบรรทุกน้ำที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที
นายทองเปลว กล่าวว่า จากการประสานข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าฤดูฝนปีนี้มาล่า โดยฝนจะเริ่มตกปลายเดือนพ.ค. แต่ตลอดทั้งปีมีอิทธิพลปรากฏการณ์เอลณิโญ่อ่อน ๆ ส่งผลให้ปริมาณฝนปีนี้ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยร้อยละ10 จากปกติปีละ 1,400 มิลลิเมตร เหลือ 1,200 -1,300 มิลลิเมตร จึงต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มงวดเพื่อมีน้ำไว้ใช้ถึงฤดูแล้งปีหน้าด้วย โดยจะต้องสำรองน้ำในเขื่อนไว้ประมาณ 13,000 ล้าน ลบ.ม.
นายทองเปลว กล่าวเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ชลประทานไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรแน่นอน แต่ฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ปกติแล้วให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก จึงขอให้เริ่มเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน แต่หากมีฝนทิ้งช่วงเดือน มิ.ย.- ก.ค.ได้สำรองน้ำไว้เพื่อช่วยเหลือแล้วนอกจากนี้ กรมชลประทานยังพร้อมส่งเครื่องจักร เครื่องมือช่วยเหลือภัยแล้งทั่วประเทศ โดยเตรียมไว้ที่ศูนย์เครื่องจักรกลทุกพื้นที่ได้แก่ ศูนย์ที่ 1 เชียงใหม่ เครื่องสูบน้ำ 165 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 11คัน เครื่องจักรกลอื่นๆไว้สนับสนุน ศูนย์ส่วนกลาง เครื่องสูบน้ำ 419 เครื่องรถบรรทุก 18 คัน และอื่นๆ ศูนย์นนทบุรี เครื่องสูบน้ำ 52 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 12 คัน ศูนย์พระนครศรีอยุธยา เครื่องสูบน้ำ 331 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 16 คัน ศูนย์พิษณุโลก เครื่องสูบน้ำ262 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ13คัน ศูนย์ขอนแก่น เครื่องสูบน้ำ 327 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 9คัน ศูนย์นครราชสีมา เครื่องสูบน้ำ 17 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 18คัน ศูนย์สงขลา เครื่องสูบน้ำ 208 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 14 คัน และอื่น ๆ รวม 4,850 ชุด.-สำนักข่าวไทย