กรุงเทพฯ 23 มี.ค.- กรมส่งเสริมการเกษตร
มั่นใจลดผลกระทบต่อเกษตรกรจากการขาดแคลนน้ำในช่วงแล้งสำเร็จเพราะเกษตรกรปรับพื้นที่ไปปลูกพืชอื่นแทนนาปรัง
นางดาเรศร์
กิตติโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า
จากการที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
ได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำมี 11 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร
สุโขทัย อุทัยธานี อุตรดิตถ์ สุพรรณบุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู
และมหาสารคาม หากวางแผนปลูกข้าวรอบสอง (นาปรัง) รวมพื้นที่จำนวน 151,552 ไร่
กรมส่งเสริมการเกษตร
จึงสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชหลากหลายหรือทำกิจกรรมอื่นทดแทนการปลูกข้าว
ซึ่งล่าสุดจากการลงสำรวจพื้นที่ดังกล่าว (13 มี.ค.62) พบว่า เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นแทนการปลูกข้าวแล้ว
ประมาณ 62,177 ไร่ คิดเป็น 41% ของพื้นที่ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 45,174 ไร่
ถั่วเขียว 12,740 ไร่ พืชผัก 2,925 ไร่ แตงโม 445 ไร่ ข้าวโพดฝักสด 420 ไร่
หญ้าเลี้ยงสัตว์ 203 ไร่ และงา 35 ไร่ และอีก 59% ของพื้นที่
เกษตรกรได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์จากเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่
จึงปรับเปลี่ยนไปทำปศุสัตว์ ค้าขายหรือทำอาชีพอื่น
และปล่อยพื้นที่ว่างบางส่วนเพื่อเตรียมเข้าฤดูกาลผลิตใหม่
นอกจากนั้น
ผลการติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งล่าสุด พบว่า ปัจจุบันเกษตรกรปลูกข้าวรอบสองแล้ว
11.02 ล้านไร่ (98% ของแผนควบคุม) มีพื้นที่ปลูกข้าวเกินแผนควบคุม รวม 1.32
ล้านไร่ ใน 36 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 29 จังหวัด
เป็นพื้นที่อยู่ทั้งในและนอกเขตชลประทาน 4 จังหวัด และพื้นที่นอกเขตชลประทานอีก 3
จังหวัด โดยในภาพรวมพื้นที่ปลูกข้าวรอบสองทั้งประเทศยังไม่เกินแผนควบคุม 11.21
ล้านไร่ ที่กำหนดไว้ แม้ว่าเกษตรกรจะปลูกข้าวรอบสอง เกินแผนควบคุมใน 36
จังหวัดดังกล่าว แต่ในจังหวัดอื่นของประเทศปลูกข้าวไม่เกินแผนที่กำหนด
ประกอบกับในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 11 จังหวัด เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยและทำอาชีพอื่นแล้ว-สำนักข่าวไทย