กรุงเทพฯ 20 มี.ค. – ก.อุตฯ ยืนยันกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ปี 61ด้านการเงิน-การตอบสนอง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนด
นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (สอป.) เผย ผลจากการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีว่า จากการปรับลดขั้นตอนการให้บริการให้สามารถปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อในปี 2651 ได้มากกว่า 10,400 ราย มูลค่าการอนุมัติสินเชื่อกว่า 15,300 ล้านบาท และอยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาอนุมัติ จำนวนกว่า 2,700 ล้านบาท ส่งผลให้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีมีผลการประเมินในปีแรก (พ.ศ.2561) จากกรมบัญชีกลาง ด้านการเงิน 4.7 คะแนนและการตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ 5 คะแนนจากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กองทุนฯ กำหนด
นอกจากนี้ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอียังได้ให้บริการส่งเสริมและพัฒนาควบคู่กับการให้สินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาทิ การเพิ่มผลิตภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างโอกาสทางการตลาด การบริหารบัญชีและการเงินที่เป็นระบบ โดยสามารถช่วยเหลือพัฒนาเอสเอ็มอี ไปแล้วกว่า 9,500 ราย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และลดความเสี่ยงของการเป็นหนี้ด้อยคุณภาพได้
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ได้ดำเนินการพัฒนากระบวนการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เอสเอ็มอีทั่วประเทศเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาปรับปรุงระบบการบริหารจัดการภายใน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้สั่งการให้สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี จัดทำแผนปรับปรุงการให้สินเชื่อและการส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอีและแผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนให้กรมบัญชีกลางภายในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2562 และดำเนินการตามแผนให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
สำหรับ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือเงินทุน และการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ เอสเอ็มอี ที่มีศักยภาพในการต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอีให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี เร่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั่วประเทศให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ตามนโยบายของรัฐบาล มีกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่เป็นระบบ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาและความต้องการของพื้นที่ โดยได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีระดับจังหวัด ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการเงิน ในการร่วมพิจารณาสินเชื่ออย่างรอบคอบและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กองทุนฯ กำหนด . – สำนักข่าวไทย