ศูนย์ราชการฯ 28 ก.พ.-พม.ผนึกกำลัง 6 กระทรวง ประกาศ “ระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ” พร้อมดึงภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในทุกมิติ
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีประกาศ “ระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วน ได้รับทราบถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุของประเทศไทย พร้อมบูรณาการความร่วมมือขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่การเป็นสังคมสูงอายุที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน โดยมีพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยผู้บริหาร 6 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ,กระทรวงสาธารณสุข ,กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน ,กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งคณะทูต ผู้แทนจากองค์กรสหประชาชาติ องค์กรเครือข่ายงานด้านผู้สูงอายุ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมงาน
สืบเนื่องจากวันที่ 4 ธันวาคม 2561คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่องสังคมสูงอายุ เพื่อเตรียมความพร้อมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมสูงอายุที่มีคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี มีภูมิคุ้มกันและเท่าทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคม
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง สังคมสูงอายุ เป็นการบูรณาการความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาคราชการที่เกี่ยวข้อง 6 กระทรวงหลักร่วมกัน ขับเคลื่อน 2 มาตรการหลัก 10 มาตรการย่อย
คือมาตรการหลักที่ 1 การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอาย และคนทุกวัย (6 Sustainable) ประกอบด้วย 6 มาตรการย่อย ได้แก่ การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ การส่งเสริมการมีทำงานและการสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุ ระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ การปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ ธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย และการสร้างความรอบรู้ให้คนรุ่นใหม่เตรียมความพร้อมในทุกมิติ
และมาตรการหลักที่ 2 ยกระดับขีดความสามารถสู่การบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (4Change) ประกอบด้วย 4 มาตรการย่อย ได้แก่ ยกระดับความร่วมมือเสริมสร้างพลังสังคมสูงอายุ การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ข้อบังคับให้เอื้อต่อการทำงานด้านผู้สูงอายุ การปฏิรูประบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ และการพลิกโฉมนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงอายุ เพื่อมุ่งให้ผู้สูงอายุไทยเป็นพฤฒิพลัง (Active Ageing): Healthy, Security, and Participation
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยมาเร็วกว่าที่คาด เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นญี่ปุ่น หากไม่เตรียมตั้งรับอย่างจริงจัง ปัญหาสำคัญจะเกิดขึ้นทั้ง การขาดแคลนประชากรวัยทำงาน เด็กเกิดน้อยลงและต้องมีภาระค่าใช้จ่าย ดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการรักษา พยาบาล ซึ่ง TDRI ประเมินว่าต้องใช้งบประมาณสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท ดังนั้นการประกาศระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่องสังคมสูงอายุ ครั้งนี้จึงหวังให้ ทั้งหกกระทรวงหลักและภาคประชาสังคมเชื่อมโยง การทำงานอย่างจริงจังให้เกิดประสิทธิภาพชัดเจน.-สำนักข่าวไทย