นครราชสีมา 25 ก.พ.- กรมทรัพยากรธรณีนำคณะนักวิชาการลงโคราช แจงโคลนพุที่อำเภอบ้านเหลื่อมเกิดเองตามธรรมชาติ ผลตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ-ดินโคลน ไม่ควรใช้น้ำอุปโภคบริโภค พบค่าสารหนูเกินมาตรฐาน เป็นด่างสูง ดินชั้นล่างยังอ่อนนิ่มเสี่ยงอันตราย มีจุดลึกถึง 5 เมตร
เมื่อเวลา 13.00 น. (25 ก.พ.) นายนิวัติ มณีขัติย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา แถลงร่วมกับนายสมบุญ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร นางอัปสร สะอาดสุด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรธรณี นายประดิษฐ์ นูเล นักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 และนายพัฒนวิทย์ จิตต์พิทักษ์ ผู้อำนวยการส่วนวิชาการ สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 5 นครราชสีมา เกี่ยวกับผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน และโคลน มาทดสอบด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ภายในห้องปฏิบัติการกองวิเคราะห์และตรวจสอบทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี หลังเกิดปรากฎการณ์โคลนพุบ้านหนองกุงน้อย ต.โคกกระเบื้อง อ.บ้านเหลื่อม
นายนิวัติ กล่าวว่า บริเวณโคลนพุเป็นเนินดินสูงประมาณ 1 เมตร มีรูปทรงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-5 เมตร เมื่อหยั่งด้วยไม้ลงไปตรงกลางหลุมมีความลึกประมาณ 5 – 6 เมตร มักพบในแอ่งที่เกษตรกรใช้ทำนาปลูกข้าวหรือในทางน้ำและที่ราบน้ำท่วมถึงในภาคอีสาน ดินบริเวณโดยรอบจะมีความอ่อนนิ่มไม่สามารถรับน้ำหนักที่กดทับได้มาก บริเวณจุดศูนย์กลางจะมีลักษณะคล้ายปล่องขนาดเล็กมีน้ำไหลผุดออกมาพร้อมกับดินเหนียวปนดินทราย เมื่อแห้งโคลนดังกล่าวจะแตกเป็นระแหง นอกจากนี้บางหลุมที่แห้งไปนานแล้วจะพบคราบเกลือสีขาวเกาะบนผิวดิน มีรสขม น้ำที่ไหลออกมาจากปากหลุมจะมีค่าความเป็นด่างค่อนข้างสูง
ส่วนสาเหตุการเกิด เป็นลักษณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ผ่านกระบวนการทางธรณีวิทยา ที่เรียกว่า “โคลนพุ” โดยมีสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 3 ประการคือ
1. มีแรงดันของน้ำใต้ดินสูง
2. มีรอยแตกและรอยแยกที่ยอมให้น้ำที่มีแรงดันดังกล่าวไหลขึ้นสู่ผิวดินได้
3. สภาพธรณีวิทยาด้านล่างมีกลุ่มดินหรือแร่ที่ทำปฏิกิริยากับน้ำแล้วเกิดการพองตัวมีสภาพนิ่มและเหลว ไหลขึ้นมาพร้อมกับน้ำ
ผลกระทบของโคลนพุต่อประชาชน แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1. ผลกระทบที่เกิดจากสภาพของดินที่ใช้ในการเพาะปลูก เนื่องจากดินและน้ำที่เกิดจากโคลนพุ มีสภาพความเป็นด่างสูง ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ 2. ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชีวิตทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงที่อาจตกลงไปในหลุมโคลน เนื่องจากพื้นดินด่านล่างมีความอ่อนนิ่มหากคนหรือสัตว์เลี้ยงพลัดตกลงไปอาจจะเกิดอันตรายได้
นายนิวัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการลดผลกระทบ เบื้องต้นควรทำแนวกั้นไม่ให้ประชาชนและสัตว์เลี้ยงเข้าไปใกล้บริเวณที่โคลนพุขึ้นมา เนื่องจากอาจพลัดตกลงได้ สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาว ควรศึกษาถึงปัจจัยและสาเหตุของการเกิดโดยละเอียด เพื่อวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ เช่น การลดระดับแรงดันของน้ำร่วมกับการปรับปรุงสภาพดินให้สามารถกลับมาปลูกพืชได้ หรืออาจวางแผนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ต่อการศึกษาปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาโคลนพุตามธรรมชาติ หรือเพื่อการวิจัยศึกษาการใช้ประโยชน์จากโคลนพุให้ถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป
สำหรับพื้นที่ที่เคยเกิดในประเทศไทย จากการศึกษาและสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี พบพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์โคลนพุในประเทศไทย ประกอบด้วย 1. จังหวัดหนองบัวลำภู 2. จังหวัดขอนแก่น 3. จังหวัดเลย 4. จังหวัดชัยภูมิ 5. จังหวัดนครราชสีมา 6. จังหวัดลพบุรี และ 7. จังหวัดสระแก้ว
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน กรมทรัพยากรธรณี มีคำแนะนำ ดังนี้ ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ พบค่าสารหนูเกินค่ามาตรฐาน (0.01 mg/l) เล็กน้อย ไม่ควรนำน้ำมาอุปโภค บริโภค หากร่างกายได้รับสารหนูในปริมาณมาก อาจส่งผลให้เกิดอาการแสบร้อนปาก ลำคอ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องรุนแรง แน่นหน้าอก ผื่นคัน ผมร่วง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ชาปลายมือปลายเท้า และก่อให้เกิดมะเร็งได้ในที่สุด ผลการตรวจสอบโคลนพุ ไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพดินแต่มีค่าความเป็นด่างสูง (pH 9.20) หากสัมผัสผิวหนังอาจเกิดการระคายเคือง มีผื่นคันได้.-สำนักข่าวไทย