การเมือง 19 ก.พ.- พรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส. หันมาใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการเลือกตั้งรอบนี้จำนวนมาก เพราะเข้าถึงประชาชนได้ง่ายและรวดเร็ว จะมีวิธีการและเทคนิคอย่างไร ติดตามจากรายงาน
โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทกับการเมืองอย่างมาก ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. ต่างใช้ช่องทางนี้ในการส่งต่อนโยบาย และแนะนำตัว เพื่อให้ประชาชนได้รู้จัก และด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมาก แต่เข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลาย นี่จึงเป็นเหตุผลที่พรรคอนาคตใหม่เลือกเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักผ่านเพจเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ ซึ่งกลยุทธ์ของพรรค จะมีทีมงานส่วนกลางในการปล่อยแคมเปญนโยบายต่างๆ พร้อมจัดเรียงความสำคัญของนโยบายผ่านตัวผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เป็นผู้รับผิดชอบนโยบายนั้นๆ และจากกระแสในโลกโซเชียลที่มีต่อพรรค ทำให้รู้ว่าประชาชนสนใจกับการหาข้อมูล เพราะยอดเข้าชมนโยบายของพรรคผ่านเว็บไซต์เพิ่มขึ้นเกือบ 500% หลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง
ไม่ต่างจากพรรคภูมิใจไทย ที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการนำเสนอนโยบายของพรรคไปยังประชาชน เพราะด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คนใช้โซเชียลมีเดียมากกว่า 50 ล้านคน ดังนั้น พรรคจึงมีทีมผลิต-วิเคราะห์ และทีมที่เลือกช่องทางในการเผยแพร่ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนเนื้อหาในทุกสัปดาห์ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสและความสนใจของประชาชน ซึ่งยอดติดตาม รวมถึงการแชร์ เป็นส่วนสะท้อนความสนใจที่มีต่อนโยบายที่พรรคการเมืองเสนอ
ส่วนสิ่งที่ 2 พรรคการเมืองมองเห็นตรงกัน คือ วิธีการการนำเสนอนโยบายผ่านโซเชียล จะสะท้อนวิธีคิดของแต่ละพรรคการเมือง ส่วนพื้นที่ไหน ที่โซเชียลมีเดียเข้าไม่ถึง ก็ต้องใช้วิธีการลงพื้นที่เป็นตัวนำ และให้ช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นตัวเสริมความนิยม
บทสรุปสุดท้ายคงต้องวัดกันว่ากระแสความนิยมบนโลกโซเชียล จะแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน.-สำนักข่าวไทย