กรุงเทพฯ 31 สค. – ต้นทุนพลังงานทดแทนลดต่ำลง ผู้เชี่ยวชาญเสนอภาครัฐส่งเสริมการผลิตแบบเสรีและลดต้นทุนค่าไฟฟ้าของภาคประชาชนด้วยการยกเลิกเงินอุดหนุน ขณะที่ ปตท.พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะก๊าซอ่าวไทยลดลงเร่งนำเข้าแอลเอ็นจี เจรจาปิโตรนาส-เชลล์-บีพี และโมซัมบิกให้ได้ราคาเหมาะ
ในงานสัมมนา “ปลดล็อคพลังงานหมุนเวียนในไทย” จัดโดยมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานมูลนิธิฯ กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนลดต่ำลงเรื่อย ๆ ขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศลดลง การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินล่าช้าต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมากขึ้น ดังนั้น จึงไม่ควรจำกัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนโดยเอกชน ไม่ควรกำหนดโควตาให้เกิดการแข่งขันเสรี และควรยกเลิกการอุดหนุน FIT สำหรับพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อไม่ให้เกิดต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงเกิน โดยการกำหนดราคาไฟฟ้ารับซื้อพลังงานทดแทนควรกำหนดให้แข่งขันได้กับการนำเข้าแอลเอ็นจี และจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่สำรองที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้พลังงานทดแทนสามารถนำมาใช้ได้ตลอดเวลาแก้ปัญหาพลังงานทดแทนที่ไม่สามารถผลิตใช้ได้ 24 ชั่วโมง
“รัฐบาลควรแก้ข้อจำกัดในการส่งเสริมพลังงานทดแทน เพื่อให้เป็นทางเลือกความมั่นคงพลังงานในอนาคต เช่นควรเปิดเสรีให้เกิดการแข่งขัน เพราะต้นทุนต่ำลง เช่น โซลาร์รูฟท็อปต้นทุนเดิมอยู่ที่ 100,000 บาท/กิโลวัตต์ก็ลดเหลือ 50,000 บาท/กิโลวัตต์ รวมทั้งเร่งแก้ปัญหาเรื่องสายส่งไฟฟ้าเต็มที่สามารถใช้อำนาจของภาครัฐทั้งจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการแก้ปัญหาได้ และในอนาคตควรแยกระบบสายส่งออกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อประสิทธิภาพและและผู้ประกอบการสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าได้ในต้นทุนเหมาะสม” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ ในฐานะประธาน บอร์ด. ปตท.ยังกล่าวด้วยว่า เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ปตท.เดินหน้าสนับสนุนอย่างรอบด้านทั้งการเร่งโครงการนำเข้าแอลเอ็นจี โดยในส่วนของสถานีรับแห่งที่ 2 (เทอร์มินอล 2) นั้นควรจะก่อสร้าง 7.5 ล้านตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากที่รัฐบาลกำลังพิจารณาว่าจะให้ก่อสร้าง 5ล้านตัน หรือ 7.5 ล้านตัน
ทั้งนี้ ปตท.ยังเร่งการเจรจารับซื้อแอลเอ็นจีทั้งสัญญาระยะสั้นและยาว ซึ่งขณะนี้กำลังเจรจาสัญญาระยะยาวรายใหม่ทั้งเชลล์ บีพี และปิโตรนาส และจากการที่ ครม.วานนี้เห็นชอบตั้งบริษัทเทรดดิ้งของ ปตท.ในอังกฤษนั้น นอกจากจะมีเป้าหมายซื้อขายน้ำมันแล้วก็จะเป็นบริษัทพิจารณาเรื่องการซื้อขายแอลเอ็นจีเพื่อเจรจาให้ต้นทุนต่ำเหมาะสมกับไทย โดยกลุ่ม ปตท.ยังพิจารณาที่จะร่วมทุนกับแหล่งผลิตแอลเอ็นจีในแหล่งต่าง ๆ จากที่ปัจจุบันเริ่มเข้าไปลงทุนแล้ว เช่น แหล่งในประเทศโมซัมบิกที่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.ร่วมทุนประมาณร้อยละ 8 ซึ่งพบว่ามีสำรองถึง 70 ล้านล้านลูกบาศ์กฟุต ใหญ่กว่าอ่าวไทยถึง 10 เท่าตัว นอกจากนี้ ปตท.ยังมุ่งสู่เทคโนโลยีรองรับพลังงานทดแทน เช่น จีพีเอสซีในกลุ่ม ปตท.ได้ร่วมทุนบริษัทวิจัยแบตเตอรี่ในสหรัฐดังนั้น กำลังจะพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่าง ๆ
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ราคาแอลเอ็นจีที่ลดต่ำลงและมีการพบมากขึ้นในหลายแหล่งทั่วโลกตลาดจึงเป็นของผู้ซื้อโดยขณะนี้ราคาสป็อตอยู่ประมาณ 6 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู ทาง ปตท.จึงพยายามเจรจาเพื่อให้ต้นทุนต่ำที่สุด โดยในแหล่งโมซัมบิกที่ ปตท.จะนำเข้า 2 ล้านตัน/ปีก็กำลังเจรจาด้านราคาใหม่ โดยแหล่งนี้ล่าสุดรับทราบจาก ปตท.สผ.ว่าเดือนสิงหาคมนี้ได้เจรจากับทางรัฐบาลโมซัมบิกเรื่องข้อตกลงการลงทุนเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนี้จะเจรจาจาเพื่อหาตลาดจำหน่ายแอลเอ็นจีเพิ่ม โดยก่อนหน้านี้มีการเจรจากับผู้รับเหมาเพื่อลดต้นทุน โดยคาดว่าจะประกาศการตัดสินใจขั้นสุดท้ายสำหรับการลงทุนอย่างล่าช้าที่สุดในปี 2560. – สำนักข่าวไทย