ธปท. 31 ส.ค. – นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทเดือนสิงหาคม 2559 แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังสอดคล้องกับเงินสกุลในภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนประเมินว่าโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนกันยายน 2559 มีน้อยลง ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ออกมาต่ำกว่าที่คาด จึงทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของค่าเงินบาทแม้จะเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.3 จากร้อยละ 3.8 ในเดือนก่อน แต่ถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลภูมิภาค โดยค่าเงินวอนเกาหลีใต้มีความผันผวนสูงสุดถึงร้อยละ 11 รองลงมา คือ ค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย ผันผวนร้อยละ 10.8 และรูเปียะห์ อินโดนีเซีย ผันผวนร้อยละ 7
ส่วนเศรษฐกิจไทยเดือนกรกฎาคมขยายตัวต่อเนื่อง แต่อัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบเดือนก่อน เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลงบ้าง หลังเร่งเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตราการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 อยู่ในช่วงปลายของการดำเนินงาน จึงมีเม็ดเงินเหลืออยู่ไม่มาก แต่เชื่อว่าจะกลับมาเป็นปกติได้ นอกจากนี้ การการบริโภคภาคเอกชนลดลงจากปัจจัยชั่วคราวที่ช่วยกระตุ้นบริโภคลดลง
ส่วนการส่งออกสินค้ายังคงซบเซา โดยหดตัวถึงร้อยละ 4.5 ตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวช้าและราคาส่งออกที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในหมวดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม ทำให้การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำตามไปด้วย แม้จะมีการลงทุนในภาคบริการ เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และหมวดอุปกรณ์สื่อสาร ซึ่งสะท้อนว่าการลงทุนโดยรวมยังฟื้นตัวเฉพาะจุด
อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวร้อยละ 10.8 โดยส่วนใหญ่เป็นนักเที่ยวจีนและยุโรป ยกเว้นรัสเซีย และการกลับมาของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย อินโดนีเซีย และตะวันออกกลาง หลังหมดช่วงเทศกาลถือศีลอดและรายได้ภาคการเกษตรขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 18.9 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นและปัญหาภัยแล้งคลี่คลายลง. – สำนักข่าวไทย