กรุงเทพฯ 7 ม.ค.-กรมควบคุมมลพิษ เตือน 7-10 มกราคม ฝุ่น PM2.5 สูงขึ้น สาเหตุมาจากอากาศจมตัวและลมนิ่ง ส่งผลให้การระบายของฝุ่นทำได้ไม่ดี แจ้ง 15 จังหวัดงดเผา
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษแจ้งประชาชน ในช่วงสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 7-10 มกราคม 2568 สถานการณ์ฝุ่นละอองมีแนวโน้มที่จะขยับสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะพื้นที่ด้านตะวันตก เนื่องจากมวลอากาศเย็นที่แผ่เข้ามาจากด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ส่งผลให้อากาศนิ่งและจมตัว ฝุ่นละอองไม่สามารถระบายออกไปจากพื้นที่ได้
ทั้งนี้รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ มอบหมายกรมควบคุมมลพิษ ยกระดับการรายงานและคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก พร้อมทั้งแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดในพื้นที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เน้นย้ำการป้องกันและแก้ไขปัญหา ทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่เกษตร พื้นที่ป่า เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชน
สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายปีและต้นปี โดยมีสภาพอุตุนิยมวิทยารวมถึงแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พบฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมกันป้องกันที่แหล่งกำเนิด ทั้งในพื้นที่เมือง พื้นที่การเกษตร และพื้นที่ป่า เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย เด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ ขอให้พี่น้องประชาชนดูแลสุขภาพ
สำหรับรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ
ประจำวันที่ 7 มกราคม 2568 ณ 07:00 น สรุปดังนี้
ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศพบเกินค่ามาตรฐานใน จ.ปทุมธานี กรุงเทพฯ จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.เชียงราย จ.น่าน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก จ.ตาก จ.เพชรบูรณ์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.ลพบุรี จ.สระบุรี จ.อ่างทอง จ.สุพรรณบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.เพชรบุรี จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.ชุมพร จ.หนองคาย จ.เลย จ.อุดรธานี จ.นครพนม จ.หนองบัวลำภู จ.สกลนคร จ.มุกดาหาร จ.กาฬสินธุ์ จ.มหาสารคาม จ.อำนาจเจริญ จ.ชัยภูมิ จ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ และ จ. สุรินทร์
ส่วนผลตรวจวัดตามรายภาคมีดังนี้
-ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 12.9 – 67.0 มคก./ลบ.ม.
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 37.2 – 75.2 มคก./ลบ.ม.
-ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 35.2 – 74.4 มคก./ลบ.ม.
-ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 6 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 21.7 – 53.6 มคก./ลบ.ม.
-ภาคใต้ เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 18.3 – 39.4 มคก./ลบ.ม.
-กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 29.1 – 76.5 มคก./ลบ.ม.
ข้อมูลจุดความร้อน เมื่อวันที่ 5 มกราคม จาก GISTDA ประเทศไทยมีจุดความร้อนทั้งสิ้น 490 จุด มาจาก นาข้าว 171 จุด พื้นที่ป่า 110 จุด เกษตรอื่น 73 จุด อ้อย 44 จุด ข้าวโพด 20 จุด และ อื่นๆ 72 จุด โดยจังหวัดที่มีจุดความร้อนสูงสุด 15 จังหวัด ดังนี้ 1.ลพบุรี 48 จุด 2.ชัยภูมิ 35 จุด 3.กาฬสินธุ์ 31 จุด 4.นครสวรรค์ 30 จุด 5.สระบุรี 25 จุด 6.นครราชสีมา 24 จุด 7.เพชรบูรณ์ 18 จุด 8.กาญจนบุรี 18 จุด 9.ชลบุรี 18 จุด 10.ขอนแก่น 17 จุด 11.ปราจีนบุรี 15 จุด 12.เชียงราย 14 จุด 13.พิจิตร 13 จุด 14.มหาสารคาม 13 จุด และ 15.นครนายก 11 จุด ซึ่ง ศกพ.ได้ประสานกับหน่วยงานและจังหวัด ขอให้ติดตามควบคุมการเผาอย่างเคร่งครัด.-512.-สำนักข่าวไทย