กรุงเทพฯ 20 ม.ค.-กรมบัญชีกลางชี้แจงมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ
และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วงระหว่างวันที่ 1 –
15 กุมภาพันธ์ 2562
เพื่อให้ประชาชนที่ชำระเงินในการซื้อสินค้าหรือรับบริการในประเทศไทย
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่
8 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้จัดประชุมชี้แจง
เพื่อประชาสัมพันธ์มาตรการไปยังผู้ประกอบการร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการต่าง
ๆ ที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีความประสงค์เข้าร่วมมาตรการฯ เช่น สมาคมธนาคารไทย
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
สมาคมผู้ค้าปลีกไทย และบริษัทตัวแทนห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกต่าง ๆ เป็นต้น
ขณะนี้มีจำนวนผู้ประกอบการร้านค้าที่สมัครเข้าร่วมมาตรการกับกรมบัญชีกลางแล้ว
จำนวน 34 ร้านค้า ซึ่งมีจำนวนสาขา 5,435 สาขา กระจายอยู่ทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ
วันที่ 16 มกราคม 2562)
และยังไม่รวมจำนวนผู้ประกอบการร้านค้าที่รับสมัครจากสำนักงานคลังจังหวัดทั้ง 76
จังหวัด อย่างไรก็ดี
ขณะนี้มีผู้ประกอบการร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมมาตรการจำนวนหนึ่งแล้ว
โดยกรมบัญชีกลางและสำนักงานคลังจังหวัด จะรับสมัครผู้ประกอบการร้านค้าเข้าร่วมมาตรการจนถึงวันที่
31 มกราคม 2562
และเพื่อให้ประชาชนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้ซื้อสินค้าและบริการที่หลากหลายและกว้างขวาง
เพื่อเพิ่มช่องทางการให้บริการแก่ประชาชนที่ซื้อสินค้าหรือบริการในช่วงเวลาดังกล่าว
ด้วยการชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่รวมถึงการชำระโดยบัตรเครดิต
และการชำระค่าสินค้าของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า
สำหรับผู้ประกอบการร้านค้ารายอื่น ๆ
ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการสมัครได้ทางเว็บไซต์ www.cgd.go.th ตั้งแต่วันที่
25 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2562
ในส่วนของประชาชนที่สนใจเข้าร่วมมาตรการฯ สามารถสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.epayment.go.th
และสาขาธนาคารเจ้าของบัตรเดบิต
(ขอความร่วมมือช่วยรับลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ www.epayment.go.th) ระหว่างวันที่
7 – 31 มกราคม 2562 เท่านั้น จึงจะมีสิทธิเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว
ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสดหรือชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
(Standard QR Code Payment) ระหว่างวันที่ 1 – 15
กุมภาพันธ์ 2562 โดยจะแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ออกจากราคาสินค้าและบริการที่ได้ชำระ
และจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับ ร้อยละ 5 สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อคน
ขณะนี้ มีประชาชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมมาตรการจำนวนน้อยมาก
จึงอยากเชิญชวนประชาชนให้ลงทะเบียนสมัครเพื่อรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่สมัครลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการแล้วแจ้งผู้ประกอบการร้านค้า
ณ จุดการชำระเงิน ด้วยว่าเป็นการซื้อสินค้าและบริการตามมาตรการดังกล่าว
ขณะเดียวกันขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการให้สอบถามประชาชนก่อนดำเนินการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการ
เพื่อให้ผู้ประกอบการร้านค้าและประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการอย่างครบถ้วนสมบูรณ์.-สำนักข่าวไทย