กรุงเทพฯ 21 พ.ย. – ก.เกษตรฯ กำหนด 274 สหกรณ์ รับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรทุกอำเภอ เกษตรกรเข้าร่วมกว่าล้านไร่ ด้านสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ยืนยันมี 20 บริษัท ซื้อผลผลิตข้าวโพดทุกเมล็ด ราคาอาจพุ่งถึง 10 บาทต่อกิโลกรัม สาเหตุจากเหตุภัยแล้งลามทั่วโลก ทำให้ผลผลิตขาดตลาด
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้าโครงการสานพลังประชารัฐส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ว่า ได้ให้สหกรณ์ 274 แห่งเป็นจุดรับซื้อจากเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 1 ล้านไร่ ถ้าซื้อแล้วปรับปรุงไม่ได้ให้ส่งต่อเอกชน โดยมีสหกรณ์ใหญ่เป็นแม่ข่ายทำตลาดส่งต่อให้โรงงานอาหารสัตว์ระหว่างทางให้สหกรณ์ขนาดเล็กส่งให้สหกรณ์ใหญ่ไปอบให้แห้งแล้วส่งเข้าโรงงานอาหารสัตว์ บริษัทเอกชนที่จะมารับซื้อข้าวโพดจากสหกรณ์ต้องมาจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ตั้งจุดรับซื้อจะอยู่ประจำทุกอำเภอให้เข้าถึงระดับพื้นที่เป้าหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรในการขนข้าวโพดมาขายให้ได้รวดเร็วและลดต้นทุน ประหยัดค่าขนส่ง
“บริษัทเอกชนส่งออกสินค้าปศุสัตว์ เช่น ไก่ไปขายยุโรป จะส่งไปขายไม่ได้ ถ้าไม่สามารถบอกแหล่งที่มาของพืชอาหารสัตว์ว่าที่มาของอาหารสัตว์นั้นพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์นั้นไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องการให้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรรผู้ปลูกอาหารสัตว์รายคน เพื่อจะได้เช็คย้อนกลับถึงที่มาของแหล่งผลิตอาหารสัตว์ได้ว่าไม่ได้บุกรุกพื้นที่ป่า ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีกระบวนการเพาะปลูกที่ดูแลควบคุมคุณภาพปลอดภัยต่อสัตว์ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องปรับตัวต้องมีกระบวนการดูแลไปถึงเกษตรกรและแหล่งเพาะปลูกต้นทาง ถ้าทำระบบรองรับไว้ก็จะเป็นเรื่องดีมากและสอดคล้องกับกติกาการค้าโลกสมัยใหม่ที่ไม่รับผลผลิตที่มาจากพื้นที่ผิดกฎหมาย” นายพิเชษฐ์ กล่าว
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้สหกรณ์การเกษตร 274 แห่งเข้ามาร่วมดำเนินการด้านจุดรับซื้อ ซึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละสหกรณ์ ทั้งนี้ สมาคมฯ แบ่งการรับซื้อเป็น 3 รูปแบบคือ แบบที่ 1 รับซื้อจากเกษตรกรโดยตรงเนื่องจากบริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์บางแห่งดำเนินธุรกิจรับซื้อข้าวโพดและใกล้ชิดกับเกษตรกรอยู่แล้ว แบบที่ 2 สำหรับเกษตรกรรายย่อย ที่ไม่มีเครื่องมือในการแปรสภาพข้าวโพดสดให้มีความแห้งตามที่มาตรฐานกำหนดต้องมีตัวกลาง คือสหกรณ์ในพื้นที่ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์คัดเลือกแล้วว่า เป็นสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการปรับปรุงสภาพผลผลิตข้าวโพด เครื่องอบลดความชื้นหรือลานตาก โดยสหกรณ์จะเป็นตัวกลางรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรมาปรับปรุงคุณภาพก่อนส่งขายให้โรงงาน และแบบที่ 3 ในพื้นที่ห่างไกล และสหกรณ์ในพื้นที่ไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือในการรองรับผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ได้นั้น ต้องหาเอกชนที่มีประสบการณ์ในการรับซื้อและปรับปรุงคุณภาพพืชไร่อยู่แล้ว ให้เข้ามารับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร แล้วเอกชนที่รับซื้อจะขนส่งต่อไปยังโรงงานผลิตอาหารสัตว์
สำหรับการกำหนดราคารับซื้อจะเป็นไปตามกลไกตลาด รับประกันไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท ที่ความชื้น 14.5% ถ้าความชื้นมากกว่าจะลดทอนราคาตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ประมาณ 10 สตางค์ต่อ 1 % ทั้งนี้ เป็นราคาหน้าโรงงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีปรับลดลงหากมีเมล็ดขึ้นรา เมล็ดแตกหัก และมีสิ่งเจือปน ขณะนี้ราคารับซื้อข้าวโพดในบางจังหวัดอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 บาท
นายพรศิลป์ กล่าวว่า ต่างประเทศประสบภัยแล้ง ทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขาดแคลน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศปีละ 8 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 5 ล้านตัน จึงต้องการผลผลิตเพิ่มอีก 3 ล้านตัน คาดว่าผลผลิตเฉลี่ยประมาณไร่ละ 1 ตัน ดังนั้น สามารถขยายพื้นที่ปลูกได้อีก 3 ล้านไร่ โครงการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาจึงเป็นประโยชน์เพราะสามารถปรับมาปลูกข้าวโพดหน้าแล้งได้ ในส่วนชาวนาที่ยังไม่เคยปลูกข้าวโพดทางสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ของไทยร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมเรื่องการใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพและแนะนำอบรมความรู้การปลูก การดูแลแปลงแก่เกษตรกรอย่างใกล้ชิด ขอให้เกษตรกรใส่ใจในการดูแล อีกทั้งให้หน่วยงานกระทรวงเกษตรเข้าไปแนะนำวิธีการลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ ทางโครงการยังได้ทำประกันความเสียหายจากพิบัติภัยให้อีกด้วย เกษตรกรจึงมั่นใจได้ว่าเมื่อเข้าโครงการปลูกข้าวโพดหลังนาจะมีผู้ซื้อผลผลิตแน่นอน ในราคาที่เป็นธรรม ผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมข้าวโพดหลังฤดูทำนามี 20 บริษัทแล้ว หากในอนาคตสามารถเพิ่มผลผลิตได้อีก 3 ล้านตันต่อปี จะเป็นประโยชน์กับทั้งเกษตรกรที่ปลูกพืชข้าวโพด ส่วนโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์จะมีวัตถุดิบเพียงพอสำหรับการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งทำให้ไม่ต้องไปสั่งซื้อวัตถุดิบมาทดแทนข้าวโพดจากต่างประเทศเข้ามา.-สำนักข่าวไทย