ทำเนียบฯ 9 ก.ย.- วิษณุ เผย รัฐบาลไม่ชี้แจงคำถามพ่วงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการตั้งคำถาม เป็นเรื่องของ สนช. และสปท.จะไปชี้แจง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุให้แม่น้ำ 3 สาย ยื่นเหตุผลและเจตนารมย์เพิ่มเติม สำหรับวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับแก้ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ว่า ในส่วนของคณะรัฐมนตรี จะทำหนังสือตอบกลับไปว่า รัฐบาลไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่ได้มีอำนาจหน้าที่กับการตั้งคำถามพ่วงในครั้งนี้ เป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่จะเป็นผู้ชี้แจงและตอบรายละเอียดทั้งหมดได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งหนังสือตอบกลับไปภายในวันนี้
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาภายใน 30 วัน และตามขั้นตอนหากศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบในการปรับแก้คำถามพ่วง ก็จะส่งเรื่องกลับมายังรัฐบาล เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน แต่หากศาลเห็นว่าการปรับแก้ยังไม่ตรงกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งมาให้กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.ปรับแก้ภายใน 15 วัน
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงความเป็นห่วงเรื่องการเลือกตั้งในไทย นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ได้รับทราบอย่างเป็นทางการ เลขาธิการยูเอ็น ไม่ได้แสดงความเป็นห่วง แต่กลับยินดีที่การลงประชามติผ่านไปด้วยความเรียบร้อยและขอให้เดินตามโรดแมปที่วางไว้ ส่วนทางนายกรัฐมนตรีได้ย้ำกับเลขาธิการยูเอ็นว่า จะมีการเลือกตั้งในปี 2560
ต่อข้อถามว่ามีรายงานข่าวอาจจะมีการเลือกตั้งเร็วขึ้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องการเลือกตั้งไม่มีใครตอบได้ว่า จะเลือกตั้งเร็วหรือช้า ตนยังไม่เห็นใครออกมาระบุถึงวันเลือกตั้งที่ชัดเจนว่าเป็นวันใด ซึ่งวันเลือกตั้งจะทราบชัดเจนได้ ก็เมื่อผ่านการทำกฎหมายลูก 4 ฉบับเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจะกำหนดได้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด วันนี้ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการทำกฎหมายลูก
นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีที่ สนช. มีมติผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 ว่า จะเป็นการใช้งบประมาณในรูปแบบใหม่ ที่จะต้องทำให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ และต้องสอดคล้องกับทั้งร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังแบบใหม่ ร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ที่จะเสนอเข้าสู่สภาฯในวาระต่อไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้การใช้งบประมาณหลังจากนี้ ต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ และไม่สามารถใช้ดำเนินการในรูปแบบประชานิยมได้ ซึ่งจะเป็นแบบอย่างการใช้งบประมาณที่รัฐบาลชุดต่อ ๆ ไป ต้องปฏิบัติตาม.-สำนักข่าวไทย