กรุงเทพฯ 14 พ.ย. – ไทยจับมือญี่ปุ่นเปิดศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย ยกระดับเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เปิดศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย(Mie – Thailand Innovation Center) ที่สถาบันอาหาร พร้อมรับมอบเครื่องจักรแปรรูปอาหารมูลค่า 25 ล้านเยน เป็นเครื่อง Extruder หรือเครื่องขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ชนิดรีดขึ้นรูป จากบริษัท SUEHIRO EPM ประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้ต่อยอดการวิจัยและการทำต้นแบบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารจากวัตถุดิบของไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากข้าวและธัญพืช ซึ่งความร่วมมือนี้นับเป็นความร่วมมือทางเทคโนโลยีครั้งแรกด้านการแปรรูปอาหารตามบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนำกงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และจังหวัดมิเอะ
ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าด้านอาหารอันดับ 1 ของไทย ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอาหารอันดับ 4 ของญี่ปุ่น คาดว่าสิ้นปีนี้ไทยจะส่งออกสินค้าอาหารไปญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า 130,000 ล้านบาท ใกล้เคียงปี 2560 ส่วนปี 2562 มีแนวโน้มว่าการส่งออกไปญี่ปุ่นจะขยายตัวร้อยละ 8 มูลค่าส่งออกประมาณ 140,000 ล้านบาท
ปัจจุบันมีบริษัทจากจังหวัดมิเอะ 30 บริษัท เข้ามาลงทุนในไทย ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร เทคโนโลยี เคมีเคิล อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการท่องเที่ยว เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท สำหรับสินค้าอาหารที่มีชื่อเสียงของจังหวัดมิเอะ อาทิ สินค้าของบริษัทYamamori ผู้ผลิตแกงบรรจุถุงรีทอร์ทเพาช์ และแกงก้อน เช่น แกงกะหรี่ และซอสโชยุ ที่คนไทยรู้จักกันดี มีโรงงานสาขาตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง ผลิตแกงไทยบรรจุถุงรีทอร์ทเพาช์ ส่งออกไปญี่ปุ่น เช่น แกงเขียวหวาน ปูผัดผงกะหรี่ และแกงเผ็ด เป็นต้น
“มั่นใจว่าศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างจังหวัดมิเอะกับประเทศไทยที่จะช่วยยกระดับและพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม และจะเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ ที่จะช่วยให้เกิดความร่วมมือขยายการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวระหว่างกันได้ต่อไปในอนาคต” นายสมคิด กล่าว
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทยมีเป้าหมายขับเคลื่อนการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นผู้นำระดับสากล และคาดว่าศูนย์ดังกล่าวจะช่วยพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรม สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรมที่เหมาะสมที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ และยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศให้เป็นผู้นำระดับสากลได้ในอนาคต หากโมเดลต้นแบบนี้ประสบผลสำเร็จ และมีการขยายเครือข่ายศูนย์นวัตกรรมรูปแบบเดียวกันไปสู่เชิงพื้นที่จะเกิดผลกระทบในเชิงรูปธรรมมากขึ้น เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของสถาบันอาหาร และสนองตอบแนวทางการยกระดับนวัตกรรมของประเทศตาม Roadmap ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่วางไว้
นายเอเค ซูซูกิ ผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เพื่อแนะนำเทคโนโลยีด้านการแปรรูปอาหารของจังหวัดมิเอะให้กับผู้ประกอบการไทย และเพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการจากจังหวัดมิเอะ ซึ่งนอกจากการนำเครื่องจักรแปรรูปอาหารเข้ามาใช้ในการวิจัยและการทดลองแล้ว ยังจัดให้มีสัมมนาแนะนำเทคโนโลยีอาหารแปรรูปของอาหารในจังหวัดมิเอะด้วย การเปิดศูนย์ฯ และการรับมอบเครื่องจักรสำหรับแปรรูปอาหารเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจังหวัดมิเอะ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอุตสาหกรรมทั้งของไทยและจังหวัดมิเอะจะเติบโตก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ภายในเดือนธันวาคมนี้จะสามารถเริ่มเดินเครื่องแปรรูปอาหารที่ได้รับมอบ เครื่องจักรนี้เป็นเครื่อง twin screw extruder รุ่น EA-20 มีกำลังการผลิต 20 กิโลกรัม/ชั่วโมง สามารถใช้แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว ประเภทข้าวโพดอบกรอบ และข้าวอบกรอบ เป็นต้น ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย เป็นเครื่องมือและกลไกในการเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรมอาหารของประเทศ ผ่านกิจกรรมการบริการและศูนย์การเรียนรู้ในด้านต่างๆ เช่น การฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้กับผู้ประกอบการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบนวัตกรรม การวิจัยนวัตกรรมร่วม การเชื่อมโยงธุรกิจ เป็นต้น. -สำนักข่าวไทย