กรุงเทพฯ 3 พ.ย.-เงินบาทกลับแข็งค่ากลับมาช่วงปลายสัปดาห์ หลังดุลบัญชีเดินสะกัดเกินดุลและหุ้นไทยกลับมาเป็นบวก
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งที่ 33.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงแรก ตามทิศทางเงินเอเชียและเงินหยวน หลังมีข่าวว่า สหรัฐฯ เตรียมวางแผนเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนเพิ่มเติมจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดี โดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี Core PCE Price Index อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยแข็งค่ากลับมาในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่เกินดุลเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ย. ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ กลับมาเผชิญแรงกดดัน สวนทางภาพการฟื้นตัวของสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางความหวังต่อผลการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ-จีน
ในวันศุกร์ (2 พ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.77 เทียบกับระดับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 ต.ค. )
ด้านดัชนีหุ้นไทย SET ปิดที่ระดับที่ 1,681.84 จุด เพิ่มขึ้น 3.25% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 13.65% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 48,160.85 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มขึ้น 2.88% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 425.62 จุด
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบตลอดสัปดาห์ ตามทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยมีแรงหนุนจากความคาดหวังในประเด็นการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน หลังมีรายงานข่าวว่าการหารือระหว่างประธานาธิบดีของ 2ประเทศเป็นไปด้วยดี และมีกำหนดพบปะกันนอกรอบการประชุมจี 20 ในเดือนนี้ นอกจากนี้ ดัชนี SET ยังมีปัจจัยหนุนจากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันตลอดสัปดาห์ แม้ว่ากลุ่มนักลงทุนต่างชาติจะยังคงขายสุทธิก็ตาม
สัปดาห์ถัดไป (5-9 พ.ย.)บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,665 และ 1,650 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,700 และ 1,710 จุด ตามลำดับ ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.60-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ (6 พ.ย.) ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐหรือ FOMC (7-8 พ.ย.) รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนี PMI ภาคบริการ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนต.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามประเด็นทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ตลอดจนข้อมูลการส่งออก-นำเข้า อัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของจีน-สำนักข่าวไทย