กทม. 30 ต.ค.- เปิดสูตรคำนวณ…เตรียมปรับราคา “แท็กซี่ โอเค” ขึ้น 8% ผู้โดยสารต้องควักกระเป๋าอีกกี่บาท
กรมการขนส่งทางบกมีการแถลงข่าว เรื่องแนวทางการปรับขึ้นค่าโดยสาร แท็กซี่ ที่ได้มีการจ้างองค์กรวิชาการด้านการวิจัย ทำการศึกษา แล้วมีข้อสรุปเพื่อเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม พิจารณาต่อไป
บทสรุปที่เป็นไปตามกรอบอำนาจของกรมการขนส่งทางบก คือ การจะให้ปรับราคา จะอนุมัติให้เฉพาะในส่วนของ “แท็กซี่ โอเค” ที่มีการยกระดับบริการไปแล้ว เช่น เข้าระบบสามารถเรียกการใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน มีการติดตั้งจีพีเอส และเชื่อมโยงข้อมูลการเดินรถผ่านศูนย์ควบคุมความปลอดภัย อันนี้มีประมาณ 13,000 คัน ส่วนแท็กซี่ที่มีในระบบอื่นๆ อีก 60,000 กว่าคัน ยังไม่พิจารณา เพราะการร้องเรียนคุณภาพบริการยังสูงอยู่
แต่ว่าวันนี้จะพาไปดูว่า ตามผลการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เรื่องแนวทางการปรับค่าโดยสาร รอบบนี้ มีรายละเอียดอย่างไร
เริ่มจากกรอบการพิจารณา TDRI ยังยึดแนวทางในการปรับค่าโดยสาร ที่ดำเนินการมาใน 2 ครั้งหลัง คือ ประวัติศาสตร์การปรับขึ้นค่าแท็กซี่ มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ในปี 2539 ซึ่งมีการจัดเก็บโดยมิเตอร์ 2 กิโลเมตรแรก เริ่มต้นที่ 35 บาท พอถึงในปี 2551 มีการปรับราคาแท็กซี่ โดยใช้เกณฑ์ลดมิเตอร์เริ่มต้น จาก 2 กิโลเมตร 35 บาทเหลือ 1 กิโลเมตร 35 บาท
ส่วนค่าโดยสารตามระยะทาง ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 2 ถึง 12 คิด 5 บาท และไปกำหนดข้อมูลการคำนวณค่าโดยสาร ในเครื่องมิเตอร์ กรณีผ่านพื้นที่รถติด รถทำความเร็วต่ำกว่า 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คิดเพิ่มนาทีละ 1.50 บาท
ที่นี้พอมาปรับราคาอีกครั้ง ในปี 2557 ซึ่งครั้งนั้น พิจารณาตามข้อมูลต้นทุน ตามค่าครองชีพ และภาครัฐขีดเส้นให้แท็กซี่ปรับปรุงบริการ โดยอนุมัติให้ปรับราคาเฟสแรก 8% จาก 13% เฉลี่ยในตลอดเส้นทาง โดยก็ให้ขึ้นเฉพาะค่าโดยสารเฉพาะช่วงรถติด จากนาทีละ 1.50 บาท เป็น 2 บาท โดยยังให้คงอัตรามิเตอร์เริ่ม และค่าโดยสารตามระยะทาง
พอมาในครั้งนี้ “ทีดีอาร์ไอ” ยังยึดในแนวคิดเดิม เพื่อให้มีผู้ใช้บริการแท็กซี่ทั่วไปได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือไปให้ปรับราคาในส่วนของอัตราคำนวณพื้นที่รถติด โดยฐานในการคำนวณ ที่ระบุว่า รอบนี้จะให้ “แท็กซี่ โอเค” ปรับราคาได้ 8%
เมื่อคำนวณค่าโดยสารตลอดเส้นทาง 8% มาจากไหน มาจาก 5% ที่ภาครัฐยังติดค้างผู้ประกอบการอยู่ และอีก 2-3% มาจากการลงทุนเพิ่มเติมของแท็กซี่โอเค เรื่องระบบ GPS ที่กรมการขนส่งฯ บอกว่า ผู้ประกอบการต้องลงทุนคนละประมาณ 30,000 บาท โดยค่าโดยสารในส่วนพื้นที่รถติด จะขึ้นจาก 2 บาทต่อนาที มาเป็น 2.50 – 3 บาท ซึ่งวิธีนี้ ทีดีอาร์ไอ เห็นว่า จะเป็นแรงจูงใจ ให้แท็กซี่พร้อมวิ่งให้บริการไปทุกพื้นที่ ไม่ว่ารถติดหรือไม่ เป็นการแก้ปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร ได้ตรงจุด
แต่ย้ำอีกครั้งหนึ่งครับว่า ผลศึกษาของทีดีอาร์ไอ ที่เสนอแล้วกรมการขนส่งฯ เห็นชอบโดยเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณาในสัปดาห์นี้ โดยตามอำนาจ พ.ร.บ.รถยนต์ หากกระทรวงคมนาคม เห็นชอบ รัฐมนตรีมีการลงนามในประกาศอัตราค่าโดยสารใหม่ จนไปถึงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 30 วัน.-สำนักข่าวไทย