กรุงเทพฯ 30 ต.ค. – นักวิชาการชี้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังทำนา ช่วยเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 17,000 ล้านบาท
นายวิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้ใช้แบบจำลองภาคการเกษตรของประเทศไทยซึ่งเป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เชิงพื้นที่คำนวณราคาและการจัดสรรทรัพยากร โดยใช้อุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรเพื่อหาสวัสดิการสังคมโดยรวมสูงสุดพบว่าโครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม
สำหรับข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์แบบจำลอง ประกอบด้วย แผนที่ความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูก (Agri-map) สำมะโนเกษตรกร พื้นที่เพาะปลูก ปริมาณผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ ต้นทุนการผลิตรายจังหวัด ปริมาณความต้องการใช้น้ำของพืชแต่ละชนิด รวมถึงพื้นที่เขตชลประทานจากกรมชลประทาน ผลการศึกษาพบว่า ควรมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนข้าวนาปรัง 1,845,710 ไร่ โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ผลตอบแทนต่อกิโลกรัมสูงกว่านาปรัง หากทำได้ตามเป้าหมายจะทำให้สวัสดิการโดยรวมของสังคมเพิ่มขึ้น 17,624 ล้านบาท สำหรับความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยเปรียบเทียบกับงบประมาณที่รัฐอุดหนุนผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การประกันภัยพืชผล และอื่น ๆ พบว่า มีความคุ้มค่าสูงกว่าปลูกข้าวนาปรัง
นายวิษณุ กล่าวว่า ปัจจุบันการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ปลูกนอกเขตชลประทานประมาณร้อยละ 96-97 ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมด เมื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่ตามแผนที่บริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศ (Zoning by Agri-map) พบว่า ร้อยละ 33 ปลูกในพื้นที่ที่มีสภาพดินเหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) กระทรวงเกษตรฯ จึงจัดทำโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ซึ่งจะปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมควบคู่กับนำนโยบายตลาดนำการผลิต เนื่องจากความต้องการของโรงงานผลิตอาหารสัตว์มีประมาณ 8 ล้านตันต่อปี ขณะที่ไทยผลิตได้เพียงปีละ 5 ล้านตัน การส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนนาปรังบางส่วน เนื่องจากต้องการลดปริมาณผลผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของการบริโภคในประเทศและการส่งออก ซึ่งอยู่ที่ 30.88 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี แต่ไทยผลิตได้ปีละ 32.63 ล้านตันข้าวเปลือก จึงมีผลผลิตข้าวส่วนเกินปีละ 1.75 ล้านตัน เป็นผลให้ราคาข้าวตกต่ำ
จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร 30 ตุลาคม 2561 มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 110,821 ราย พื้นที่ 966.538.25 ไร่ ในพื้นที่ 33 จังหวัดเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรอีก 6 จังหวัดประสงค์เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ได้แก่ เลย อำนาจเจริญ มุกดาหาร ยโสธร เชียงใหม่ และบึงกาฬ รวม 8,170 ราย พื้นที่ 50,881 ไร่
นายวิษณุ กล่าวว่า ปัญหาที่น่าเป็นห่วง คือ โครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2 ปีที่ผ่านมา ราคาที่เกษตรกรขายได้ต่ำกว่าราคาหน้าโรงงาน ส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพผลผลิต แต่ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ พ่อค้าพืชไร่และโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์กดราคารับซื้อ ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐต้องดำเนินการ คือ ให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คุณภาพแก่เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรมือใหม่ที่เดิมปลูกข้าวนาปรังและไม่เคยปลูกข้าวโพดมาเลี้ยงสัตว์ก่อน ซึ่งอาจประสานสถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญด้านเกษตรทั่วประเทศและภาคเอกชนเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกร ส่งเสริมการปลูกแบบแปลงใหญ่หรือการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อให้สามารถนำเครื่องจักรกลสมัยใหม่มาใช้ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมแปลง การปลูก จนกระทั่งเก็บผลผลิต สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงกระบวนการลดความชื้นของข้าวโพดที่จะให้ขายได้ราคาสูงขึ้น ดูแลการรับซื้ออย่างใกล้ชิด ให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์กำหนดราคาที่เป็นไปตามกลไกการตลาด โดยต้องระบุราคาชัดเจนที่จุดรับซื้อ รวมถึงอัตราการปรับลดตามระยะทางขนส่ง ค่าความชื้น และสิ่งเจือปน ขอความร่วมมือโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ในการกำหนดจุดรับซื้อที่เหมาะสมในพื้นที่ปลูก ไม่ให้เกษตรกรต้องขนส่งผลผลิตเป็นระยะทางไกลๆ เพื่อจะนำมาขาย มีผู้รับซื้อแน่นอนว่า บริษัทใดรับซื้อผลผลิตที่จุดใด รวมถึงกำหนดเรื่องการคัดคุณภาพและราคาที่เป็นธรรม โดยอาจมีหน่วยงานกลางตรวจสอบมาตรฐานข้าวโพด
ทั้งนี้ มั่นใจว่าหากภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันเชิญชวนเกษตรกรให้เข้าร่วมโครงการได้ตามเป้าหมายจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โครงการสานพลังประชารัฐส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาจะสามารถปลดเปลื้องหนี้สินให้เกษตรกรและทำให้มีรายได้ดีขึ้น อีกทั้งจะเป็นต้นแบบของแผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศที่จะสร้างความมั่นคงทางให้แก่เศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป.-สำนักข่าวไทย