กรุงเทพฯ 16 ก.ค. – ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตรวิจัยโครงการข้าวโพดหลังนาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ 1 สร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจกว่า 6,000 ล้านบาท แนะรัฐบาลใหม่สานต่อ ถอดบทเรียนพัฒนาความรู้การปลูกให้เกษตรกร พร้อมป้องกันและปราบหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดศัตรูพืชใหม่ที่ระบาดในไทยเป็นครั้งแรก
นายวิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้ศึกษาวิจัย “โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาฤดูแล้งปี 2561/2562” ของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งริเริ่มโดยนายกฤษฎา บุญราช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โครงการนี้สามารถยกระดับรายได้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการคิดเป็นมูลค่า 654.55 บาทต่อไร่ และไม่ได้เข้าร่วมโครงการคิดเป็นมูลค่า 616.92 บาทต่อไร่ เหตุผลที่โครงการนี้สร้างรายได้เพิ่มแก่เกษตรกรที่ไม่ได้ร่วมโครงการ เนื่องจากการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังรักษาสมดุลการผลิตข้าว ทำให้ราคาข้าวนาปรังไม่ให้ตกต่ำ
นายวิษณุ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าโครงการนี้มีส่วนทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น 413.11 บาทต่อไร่ ขณะที่เกษตรกรที่ไม่เข้าร่วมโครงการมีต้นทุนสูงขึ้น 330.88 บาทต่อไร่ ตามลำดับ และภาพรวมต้นทุนการผลิตของเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 383.60 บาทต่อไร่ เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนมีความรู้ปลูกข้าวโพดในนาน้อยและมีการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ซึ่งเป็นครั้งแรกที่แมลงศัตรูพืชชนิดนี้ระบาดในไร่ข้าวโพด ดังนั้น เมื่อนำรายได้หักออกจากต้นทุนการผลิตพบว่าโครงการนี้ทำให้รายได้สุทธิต่อไร่ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น 241.44 บาทต่อไร่ และกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น 286.04 บาทต่อไร่
ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในโครงการมี 813,598 ไร่ และพื้นที่ปลูกพืชอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ 20,626,327 ไร่ ผลการศึกษาพบว่าโครงการฯ สามารถสร้างประโยชน์รวมเชิงเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 6,081 ล้านบาท โดยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เข้าร่วมโครงการได้รับผลประโยชน์มูลค่า 173 ล้านบาท ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกพืชอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการได้รับผลประโยชน์มูลค่า 5,908 ล้านบาท นอกจากนี้ โครงการยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในมิติของสุขภาพ คือ การลดปัญหามลพิษทางอากาศจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เนื่องจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ มีอัตราการเผาเพื่อจัดการแปลงคิดเป็นร้อยละ 27.36 ของพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ ขณะที่เกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการมีอัตราการเผาเพื่อจัดการแปลงคิดเป็นร้อยละ 36.70 ของพื้นที่ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ สรุป คือ โครงการช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศสามารถลดพื้นที่เผาทางการเกษตรลงร้อยละ 25.44 เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีโครงการ
นายวิษณุ ย้ำว่าโครงการข้าวโพดหลังนาฤดูแล้งปี 2561/2562 ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจจากผลกระทบในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรัฐบาลสมควรสานต่อ โดยเพิ่มการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการในปีถัดไปควรพิจารณาเกณฑ์ความเพียงพอของน้ำตลอดฤดูเพาะปลูกให้เข้มงวดมากขึ้น ควรสร้างระบบเตือนภัยศัตรูพืชและสภาพอากาศให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่ายอย่างทั่วถึงและทันท่วงทันมากขึ้น ควรเพิ่มความรู้ให้กับเกษตรกรในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเกษตรกรที่ไม่เคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก่อน โดยอาจประสานกับสถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญด้านเกษตรทั่วประเทศและภาคเอกชนในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกร ควรส่งเสริมตลาดเช่าซื้อเครื่องจักรกลเพื่อการเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงที่ได้คุณภาพให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ และควรเพิ่มการดูแลการรับซื้อในราคาที่ยุติธรรม และส่งเสริมการปลูกในรูปแบบแปลงใหญ่ผ่านการขายให้กับสหกรณ์น่าจะช่วยให้เกษตรกรได้ราคาขายที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้โครงการที่ริเริ่มทำเป็นครั้งแรกพัฒนาจนสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรมากดังที่วางเป้าหมายไว้ อีกทั้งเป็นต้นแบบในการทำเกษตรกรรมอื่น ๆ ต่อไป
สำหรับระเบียบวิธีวิจัยเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยเก็บรวบรวมข้อมูลกับเกษตรกร 38 จังหวัดทั่วประเทศ แบบสอบถาม 1,180 ชุด ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2562 ประกอบด้วย เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 657 ครัวเรือนและเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการที่ปลูกพืชอื่นแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่น ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง เป็นต้น 523 ครัวเรือน โดยมีการนำข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยามาวิเคราะห์ร่วมด้วย งานศึกษาครั้งนี้ได้เลือกใช้เทคนิค “วิธีการแมทชิ่งโดยใช้คะแนนความโน้มเอียง” ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในการประเมินผลกระทบของโครงการหรือนโยบายสาธารณะ เพื่อลดปัญหาความเอนเอียงในการคัดเลือกอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมโครงการเป็นไปด้วยความสมัครใจ.-สำนักข่าวไทย