ก. เกษตรฯ เร่งใช้ยางพาราในประเทศและวิจัยให้มีผลผลิตสูงขึ้น

กรุงเทพฯ 28 พ.ย. –   เกษตรฯ เร่งประสานหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาทำถนนยางในชุมชน ขณะที่นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนให้ลดปลูกยางในพื้นที่ไม่เหมาะสมเพราะต้นทุนสูง ให้ผลผลิตต่ำ ทำให้ขาดทุน


นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากที่สั่งการให้เกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จังหวัดและผู้อำนวยการกยท. จังหวัด ร่วมสำรวจการใช้ยางพารา ตามแนวทางสนับสนุนการใช้ยางภาครัฐนั้น ขณะนี้มีหลายจังหวัดเริ่มดำเนินการทำถนนยางพาราแล้ว ล่าสุดที่จังหวัดเลย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา นพค. 23 ได้ปรับปรุงทางลูกรังเป็นถนนงานดินซีเมนต์ผสมยางพารา 7 เส้นทาง โดยใช้งบประมาณปี 2561/กันเหลื่อมปี 2562 ซึ่งการปรับปรุงผิวจราจรถนนลงลูกรังหนา 10 เซนติเมตร ใช้น้ำยางพารา Pre-blended 2.10 กิโลกรัมต่อตารางเมตรผสมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (ประเภทงานโครงสร้าง) 14.20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

“จากรายงานแสดงให้เห็นว่า การใช้น้ำยางสดร่วมกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ปรับปรุงผิวจราจร ซึ่งทำโดยหน่วย นพค. เองนั้น ขั้นตอนไม่ซับซ้อน ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีเครื่องจักร  เครื่องมือ หากมีหน่วยทหารหรือหน่วยงานอื่นที่มีรถบรรทุกน้ำ แล้วปรับปรุงให้ใส่น้ำยางสดได้ จะสามารถใช้น้ำยางสดมาเป็นผสมในปรับปรุงผิวจราจรได้ ขณะนี้มีถนนที่ปรับปรุง 2 แห่ง คือ บ้านศรีชมชื่น ตำบลน้ำสวย อำเภอเมืองเลย และ บ้านน้ำพร ตำบลปากตม อำเภอเชียงคาน “นายกฤษฏา กล่าว


รองศาสตราจารย์วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงผลวิจัยเกี่ยวกับข้อกังวลที่ว่า จากนี้ไปยางสังเคราะห์ถูกใช้น้อยลงกว่ายางธรรมชาติ โดยเมื่อเปรียบเทียบการใช้สัดส่วนการใช้ยางธรรมชาติต่อการใช้ยางทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38.35 ในปี 2536 เป็นร้อยละ 46.54 ในปี 2560 สอดคล้องกับกระแสความนิยมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคที่เห็นว่า ยางสังเคราะห์ผลิตจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมซึ่งไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รองศาสตราจารย์วิษณุกล่าวว่า ยางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากขึ้นคือ ยางธรรมชาติที่ผลิตจากต้นรัสเซียแดนดิไลน์ (Russian Dandelion) และต้นวายยูลี (Guayule) เพราะนอกจากกระแสความนิยมสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคกำลังเพิ่มขึ้นแล้ว ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่หลายรายมีความกังวลต่อการพึ่งพึงยางพาราอย่างเดียว เพราะหากเกิดโรคระบาดในยางพาราอาจทำให้ไม่มีวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์ อีกทั้งการผลิตยางพารายังกระจุกตัวอยู่เฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งค่าแรงงานกำลังปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

สำหรับต้นวายยูลีเหมาะปลูกในพื้นที่แห้งแล้ง ส่วนต้นรัสเซียแดนดิไลน์เหมาะปลูกในพื้นที่หนาวเย็น จึงเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านการจัดหาวัตถุดิบในอุดมคติที่บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ชั้นนำต้องการ จุดเด่นของพืชทั้ง 2 ชนิดนี้คือ ไม่ต้องการคนกรีดเหมือนยางพารา แต่ใช้รถแทรกเตอร์ในการเก็บเกี่ยว ทำให้สามารถลดปัญหาเรื่องการหาแรงงานได้ ต้นรัสเซียแดนดิไลน์สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวได้ปีละ 2 ครั้งและสามารถเติบโตได้ในที่ดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ขณะที่ต้นวายยูลีต้องใช้เวลาปลูกนาน 2-3 ปีถึงจะเก็บเกี่ยวได้ แต่เมื่อเทียบกับยางพาราแล้ว ใช้เวลาปลูกจนเก็บเกี่ยวสั้นกว่าและยังเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยด้วย


ขณะนี้ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่อย่างเช่น Bridgestone, Cooper Tire และ Continental กำลังวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ต้นต้นวายยูลีให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับยางพาราทั้งด้านผลผลิตต่อไร่และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสนับสนุนทุน 6.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา ทาง Cooper Tire โดยทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Clemson University และ Cornell University และล่าสุด Bridgestone เพิ่งได้รับทุนอุดหนุนวิจัยอีก 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพื่อเดินหน้างานวิจัยจนถึงปี ค.ศ. 2022 ส่วน Continental วางแผนจะผลิตยางรถยนต์ที่ใช้ยางธจากต้นรัสเซียแดนดิไลน์เชิงพาณิชย์ให้ได้ในปี ค.ศ.2023 หรืออีกประมาณ 5 ปีนับจากนี้ ดังนั้นประเทศไทยควรต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราเพื่อเตรียมรับมือกับการทดแทนยางพาราของพืชทั้ง 2 ชนิดนี้

รองศาสตราจารย์วิษณุ กล่าวเพิ่มเติมถึงมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยางไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ เป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับเกษตรกรไทยเชิงสังคม แต่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องแก้ที่ภาคการผลิต จาการวิจัยพบว่า ผลผลิตยางพาราต่อไร่ของประเทศไทยมีแนวโน้มทรงตัวโน้มเอียงไปทางลดลง ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศอินเดียและเวียดนามที่ปัจจุบันมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมากกว่าประเทศไทยไปแล้ว โดยเฉพาะยางพาราในภาคเหนือ ภาคอีสาน ให้ผลผลิตต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จึงเสนอแนวทางดังนี้เร่งส่งเสริมการโค่นต้นยางเก่าที่ทรุดโทรมและมีอายุมากโดยให้แรงจูงใจกับเกษตรกรมากกว่าปัจจุบันเพื่อเร่งการตัดสินใจโค่นยางโดยทำควบคู่กับการให้แรงจูงใจกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบ ลดภาษีสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ไม้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบเพื่อเพิ่มอุปสงค์ไม้ยางพาราให้สอดรับกับอุปทานไม้ยางพาราที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามที่กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอไว้ ซึ่งนโยบายนี้มาเลเซียใช้แล้วเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่ที่เหมาะสมโดยใช้ข้อมูลจาก Agri Map ส่วนในพื้นที่ที่ให้ผลผลิตต่ำควรส่งเสริมให้ปลูกพืชอื่นที่เหมาะสมทดแทน 

ทั้งนี้จากสถิติของกรมพัฒนาที่ดินพบว่า พื้นที่ปลูกยางพาราที่ไม่เหมาะสมและเหมาะสมน้อยมีสูงถึง 4.9 ล้านไร่ ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องเพื่อหาแนวทางพัฒนาพันธุ์ยางที่มีผลผลิตต่อไร่สูงและมีคุณลักษณะตามที่ตลาดต้องการ รวมทั้งหาแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทานยางพาราเพื่อเตรียมรับมือกับการแข่งขันจากยางธรรมชาติที่ผลิตจากต้นวายยูลีและต้นรัสเซียแดนดิไลน์ในอนาคตอันใกล้นี้  . – สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เพลิงไหม้โรงอบลำไย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

เพลิงไหม้โรงงานอบลำไย อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เจ้าหน้าที่เร่งนำรถดับเพลิงเข้าระงับเหตุ เพื่อควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลามไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้

พุ่งไม่หยุดราคาทองคำโลกนิวไฮอีก คาดไปต่อถึง 3 พันดอลลาร์/ออนซ์

ราคาทองคำตลาดโลกพุ่งแตะ 2,800 ดอลลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ นักวิเคราะห์คาดมีโอกาสพุ่งต่อถึง 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่งผลราคาทองไทยวันนี้ขึ้นต่อจากราคาปิดวานนี้ และทำนิวไฮเท่าวานนี้

ข่าวแนะนำ

ศึกชิงทำเนียบขาว 2024 : คอมมาลา แฮร์ริส

รายงานศึกชิงทำเนียบขาว 2024 พาไปรู้จักกับนางคอมมาลา แฮร์ริส ที่เพิ่งได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ไม่กี่เดือนก่อนเลือกตั้ง เปรียบเหมือนการเปลี่ยนม้าใหม่กลางศึก หากชนะได้เธอจะกลายเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐด้วย

เปิดโครงการ “เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต” ครั้งที่ 10

นายกฯ ควง “คุณหญิงพจมาน-ครอบครัว” นำ ครม.-ประชาชน ร่วมโครงการเดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 10 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สาว อบต.ตกใจ ตำรวจตามรอยเงิน 39 ล้านบาท ที่แท้ชื่อซ้ำกัน

สาว อบต. ตกใจ ตำรวจมาถึงที่ทำงาน ถามถึงเงิน 39 ล้านบาท ที่แท้ชื่อซ้ำกัน ยันไม่เคยรู้จัก “มาดามอ้อย-ทนายตั้ม” มาก่อน