กรุงเทพฯ 3 มี.ค. – นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเกษตรเสนอรัฐเร่งแก้ปัญหา PM2.5 จากการเผาภาคเกษตร ด้วยวิธีส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลขั้นตอนเตรียมแปลงก่อนเพาะปลูกใหม่ เก็บเกี่ยวผลผลิต ตลอดจนนำเศษซากพืชและวัชพืชไปสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรร่วมมือ ควบคู่กับจัดระเบียบการเผา
นายวิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหามลพิษทางอากาศ รวมทั้งฝุ่นละออง PM2.5 หลายพื้นที่รุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาในภาคเกษตร ที่ผ่านมารัฐใช้มาตรการจัดระเบียบการเผา คือ ผู้ที่จะเผาเศษวัสดุทางการเกษตรต้องแจ้งฝ่ายปกครองทราบล่วงหน้า เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเผาพร้อมกันเกินกว่าที่ฝุ่นละอองจะลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศก่อตัวหนาแน่นจนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ อีกทั้งในช่วงก่อนฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ หลายจังหวัดจะประกาศห้ามเผาทุกชนิด แต่เกษตรกรยังลักลอบเผาไม่เปลี่ยนพฤติกรรม เนื่องจากเห็นว่าเป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดที่สุด
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า การส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรในการเตรียมแปลงและการเก็บเกี่ยวเป็นมาตรการที่ลดการเผาในภาคเกษตรได้ แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยไม่มีศักยภาพในการเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรซึ่งมีราคาสูง จึงเสนอว่าภาครัฐและเอกชนควรร่วมกันให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขกับเกษตรกรระยะสั้นในการใช้เครื่องจักรกล เพื่อการเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงแทนการเผา เตรียมส่งเสริมและให้ความรู้กับเกษตรกร เพื่อจัดการแปลงสำหรับใช้เครื่องจักรเก็บเกี่ยวในฤดูกาลใหม่ที่จะเริ่มขึ้น หากเป็นไปได้ร่วมกันวางแผนการผลิตในทุกพื้นที่เพื่อให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งมีการเผาในแปลง จึงควรเพิ่มส่วนต่างราคารับซื้ออ้อยไฟไหม้และอ้อยสดมากกว่า 30 บาท/ตัน เพื่อจูงใจให้เกษตรกรหันมาสนใจตัดอ้อยสดมากขึ้น เพราะจะได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าการเผา ภาคเอกชนต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เพราะมีส่วนในการรับซื้ออ้อยไฟไหม้เช่นกัน ไม่ควรให้เกษตรกรเป็นผู้รับภาระเพียงฝ่ายเดียว
นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมให้เกษตรกรนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำปุ๋ยหมักทุกพื้นที่ พร้อมให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรต่อไร่เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ไม่เผา ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ มีโครงการลักษณะนี้ แต่งบประมาณค่อนข้างน้อยและพื้นที่จำกัด จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้สมบูรณ์ ส่งเสริมให้มีตลาดเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้ในการจัดการแปลงและเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ และเกิดการแข่งขันอย่างเสรี ซึ่งสามารถสร้างแรงจูงใจโดยการลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรใหม่ และยกเว้นภาษีกำไรให้กับบริษัทเอกชนที่สนใจลงทุน ไม่ควรส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยเป็นเจ้าของเครื่องจักร เพราะเครื่องจักรจะไม่สามารถถูกใช้อย่างเต็มศักยภาพ ในอดีตที่ผ่านมาสถิติจากสำมะโนเกษตรบ่งชี้ว่า เกษตรกรหันมาเช่าเครื่องจักรแทนการซื้อ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดเช่าซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ส่งเสริมให้มีการรวมแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า มาตรการที่สำคัญอีกประการ คือ ส่งเสริมให้มีตลาดสำหรับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทำให้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีราคาและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เช่น ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลหลายโรงเริ่มสนับสนุนการรับซื้อใบอ้อยจากเกษตรกรเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งควรขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ นอกจากนี้ อาจพิจารณาส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เศษวัสดุเหลือใช้จากข้าวและข้าวโพดด้วย ได้มีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่าการผลิตไฟฟ้าในลักษณะนี้จะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ และสามารถทำได้จริง เช่น ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าด้วยกำลังการผลิต 8 และ 10 เมกกะวัตต์ ในช่วงเวลา 20 ปี โครงการจะสร้างมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ประมาณ 30 และ 90 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งจะเป็นมาตรการที่สร้างแรงจูงใจในการหยุดเผาได้ โดยทำควบคู่กับทุกมาตรการ
ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมการหยุดเผาพื้นที่เกษตร ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร โดยปี 2562 ถ่ายทอดความรู้ด้านทำเกษตรปลอดการเผาให้กับเกษตรกร 15,750 ราย เพื่อสร้างวิทยากรถ่ายทอดความรู้รวมทั้งสร้างชุมชนเกษตรปลอดการเผาต้นแบบ 166 ชุมชน รวม 26 จังหวัด แบ่งเป็นพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 10 จังหวัดได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ พะเยา ตาก และอุตรดิตถ์
ส่วนพื้นที่อื่นที่มีการเผาในพื้นที่การเกษตรมากมี 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร และอุดรธานี ขณะนี้คณะทำงานป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืช และเศษวัสดุทางการเกษตรมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรณรงค์ในท้องถิ่น เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ช่วงวิกฤตหมอกควัน จัดทำแปลงนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผา
ผลสำรวจเบื้องต้นของ สศก. จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ส่วนใหญ่ตระหนักและเห็นความสำคัญในการทำเกษตรปลอดการเผา โดยนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมมาปฏิบัติได้แก่ การไถกลบ การจำหน่ายเป็นฟางอัดก้อน หรือการใช้พื้นที่เกษตรเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ จะรณรงค์อย่างต่อเนื่องให้เกษตรกรทราบถึงวิธีจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อลดการเผา เช่น การไถกลบตอซังฟางข้าว ใบอ้อย หรือเศษซากพืชเพื่อช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และคืนชีวิตให้ดิน การนำฟางข้าว หรือเศษวัสดุการเกษตรที่เหลือทิ้งในแปลงเพาะปลูกมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักทดแทนปุ๋ยเคมี หรือการนำเศษวัสดุการเกษตรมาใช้เลี้ยงสัตว์ การผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่ง หรือแม้แต่การห่มดินโดยนำเศษใบไม้ เศษฟาง เศษหญ้า มาคลุมบริเวณโคนต้นพืช ตลอดจนสร้างร่วมมือระหว่างชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน นการช่วยกันเฝ้าระวังและควบคุมการเผาในพื้นที่เพื่อร่วมกันบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และหมอกควันซึ่งเป็นวิกฤติของประเทศในขณะนี้.-สำนักข่าวไทย