เมืองมาราเกซ 29 ต.ค. – ไทยร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ลดใช้ยาต้านจุลชีพภาคเกษตร เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยาบนเวที ระดับโลก
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมระดับโลกด้านการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในสัตว์ ครั้งที่ 2 ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ที่เมืองมาราเกซ โมร็อกโก วันนี้ (29 ต.ค.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกว่า 10 ประเทศเข้าร่วม โดยไทยจะเสนอแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งมีเป้าหมายให้ปี 2564 ภาวะการป่วยจากเชื้อดื้อยาจะลดลงร้อยละ 50 การใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ร้อยละ 20 และในสัตว์ลดลงร้อยละ 30 ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าปัจจุบันมีเพียง 67 ประเทศจาก 194 ประเทศที่มีแผนยุทธศาสตร์เชื้อดื้อยาระดับชาติ
นายกฤษฎา กล่าว่า ปัจจุบันคนไทยติดเชื้อดื้อยาปีละกว่า 100,000 คน และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 30,000 คนต่อปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 42,000 ล้านบาท ส่วนทั่วโลกมีคนติดเชื้อดื้อยาปีละ 700,000 คน หรือนาทีละ 1 คน หากไม่มีการจัดการการใช้ยาจุลชีพอย่างเหมาะสม อีก 30 ปีข้างหน้าคนทั่วโลกจะเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาประมาณ 10 ล้านคน หรือนาทีละ 19 คน ไทยจึงต้องผนึกกำลังกับประชาคมโลกจัดการเชื้อดื้อยา เพราะการแพร่กระจายของโรคไม่เลือกเผ่าพันธุ์และไม่มีพรมแดน
ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า อธิบดีกรมปศุสัตว์จาก 182 ประเทศเข้าร่วมประชุม โดย องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ในฐานะผู้นำด้านสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ให้ความสำคัญการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์อย่างรับผิดชอบและรอบคอบ เนื่องจากหากมนุษย์ได้รับยาจุลชีพตกค้างในผลิตภัณฑ์จากสัตว์จะก่อให้เกิดภาวะดื้อยา
สำหรับกรมปศุสัตว์ได้จัดการการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมและรอบคอบ โดยกำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนยาอย่างถูกต้อง ตรวจสอบคุณภาพยาสัตว์หลังออกสู่ตลาด ปราบปรามยาสัตว์ผิดกฎหมาย หาปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพในปศุสัตว์ ส่วนโรงงานผลิตอาหารสัตว์ต้องตรวจสอบคุณภาพอาหารสัตว์ตามพ.ร.บ. ควบคุมอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพที่มีความเสี่ยงผสมในอาหารสัตว์ ห้ามใช้ยาปฏิชีวนะผสมในอาหารสัตว์ เพื่อเร่งการเจริญเติบโต มีกฎหมายและสัตวแพทย์กำกับดูแลการใช้ยาในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์จากกรมปศุสัตว์ มีสัตวแพทย์ควบคุมการใช้ยาและผสมยาในอาหารสัตว์ในฟาร์มเลี้ยง เก็บตัวอย่างเพื่อเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในสัตว์ ส่งเสริมการใช้ยาต้านจุลชีพในฟาร์มอย่างสมเหตุสมผล ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์แบบไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ส่งเสริมการใช้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์ทางเลือก รวมถึงประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักแก่เกษตรกรเกี่ยวกับเชื้อดื้อยา สำหรับโรงฆ่าสัตว์ต้องได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายและมีระบบมาตรฐาน เก็บตัวอย่างเพื่อเฝ้าระวังการดื้อยาของเชื้อจุลชีพ และมีพนักงานตรวจโรคสัตว์กำกับดูแล รวมถึงสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ได้แก่ เก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์เพื่อเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ตรวจสอบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในสินค้าปศุสัตว์ และส่งเสริมให้มีมาตรฐานของสถานที่จำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ (ปศุสัตว์ OK) ซึ่งเป็นการดูแลตลอดห่วงโซ่การผลิต
ทั้งนี้ OIE ระบุว่าภาวะดื้อยาต้านจุลชีพส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เป็นวงกว้าง เมื่อยาต้านจุลชีพปัจจุบันใช้ไม่ได้ผลต้องผลิตยาใหม่ แต่การวิจัยและพัฒนายาใหม่ไม่ทันต่อความรุนแรงของเชื้อดื้อยาที่ปรับตัวเองให้ทนต่อยามากขึ้น อาจรักษาไม่หาย หรือยาใหม่มีราคาแพง รวมทั้งมีผลข้างเคียงรุนแรง ดังนั้น ภาคปศุสัตว์จึงต้องมียุทธศาสตร์การจัดการใช้เชื้อจุลชีพที่เหมาะสม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการลดการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาทั่วโลก.-สำนักข่าวไทย