ทำเนียบรัฐบาล 7 ธ.ค. – พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศ พ.ศ… โดยมีหลักการผ่านการตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเหมือนในอดีต โดยเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินสมาชิกเมื่อเกิดปัญหาขึ้น โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่กำหนดอัตราจัดเก็บ แต่มอบหมายให้บอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ พิจารณาปัญหาว่าควรจัดเก็บเงินจากสถาบันการเงินสัดส่วนเท่าใด และกองทุนฟื้นฟูฯ จะทำหน้าที่ให้กู้ยืมเงิน การเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน การถือหุ้น การช่วยเหลือลดภาระหนี้ การตั้งบริษัทบริหารจัดการหนี้ และขายหนี้
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเสนอปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ธปท.ปี 2540 มาตรา 19 กำหนดว่าเมื่อเกิดวิกฤติในสถาบันการเงิน รัฐบาลมีอำนาจออก พ.ร.ก.ตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ผ่านการตั้งกองทุน FIDF 1,2,3,4 เพื่อแก้ปัญหาในยุค “ต้มยำกุ้ง” โดยกองทุน FIDF 2 กับ 4 ช่วยแก้ปัญหาและปิดกองทุนไปแล้ว เหลือเพียง FIDF 1 และ 3 ตามมาตรา 19 แต่ไม่มีผลผูกพัน จึงทำให้การบังคับใช้กฎหมายหมดสภาพแล้ว และช่วงที่ผ่านมาหลายรัฐบาลพยายามเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนรัฐบาลและหากเสนอออกมาจะทำให้สังคมมองว่าประเทศเกิดวิกฤติ นายกรัฐมนตรีย้ำในที่ประชุม ครม.ว่ารัฐบาลขออยู่ด้วยสภาพความเป็นจริงและปัจจุบันสถาบันการเงินของไทยยังเข้มแข็ง และการผลักดันกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้มีเครื่องมือรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทั้งในประเทศและต่างประเทศ และหากเกิดปัญหาจะมีเครื่องมือป้องกันได้ทันเหตุการณ์
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัจจุบันยังไม่มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงิน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินเป็นส่วนรวม ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินเป็นไปได้รวดเร็วและทันการณ์ ไม่เกิดความลุกลามของปัญหาไปยังภาคเศรษฐกิจของประเทศ จึงควรให้แก้ไข พ.ร.บ.ธปท. โดยปรับปรุงมาตรา 19 ให้รองรับกลไกการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติการเงิน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คณะกรรมการของกองทุนฯ จะพิจารณาถึงความวิกฤติที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินแห่งอื่นมาช่วยเหลือ และดูว่าควรเรียกจำนวนเท่าใด เพื่อช่วยเหลือแก้ปัญหา แต่หากการเรียกเก็บไม่เพียงพอรัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณเข้าไปช่วยดูแล
นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า วันนี้ ธปท.ได้เสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เพื่อทดแทนบทเฉพาะกาลมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ที่สิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 2555 และวันนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการการแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ร.บ. ธปท.) ดังกล่าวแล้ว
สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ. ธปท. ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้มีกลไกดูแลแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม ซึ่งจะทำให้ระบบการเงินไทยมีกระบวนการรองรับในเรื่องนี้อย่างครบถ้วน โดยเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันไว้ล่วงหน้าในภาวะที่สถาบันการเงินไทยขณะนี้มีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพดี ทั้งนี้ กลไกและวิธีการนี้สอดคล้องกับหลักการสากลที่หลายประเทศได้มีการปรับกรอบกฎหมายให้รองรับการแก้ไขปัญหาภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยมีการจัดตั้งกองทุนเป็นเครื่องมือดำเนินการในกรณีของไทยนั้นมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งคล้ายกับกองทุนดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ในประเด็นความเสียหายนั้น ร่างกฎหมายใหม่นี้ได้ให้สถาบันการเงินในระบบเป็นผู้รับภาระความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย