ทำเนียบรัฐบาล 14 มี.ค. – พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลประชุมร่วมกันระหว่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการสูงสุด กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.) เห็นชอบร่วมกันให้ตั้งคณะกรรมการประเมินภาษีเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการออกหมายเรียกนายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นหมายเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณ เนื่องจากศาลตัดสินแล้วว่าบุตรทั้ง 2 เป็นเพียงตัวกลาง ดังนั้น การออกหมายเรียกจึงเกิดขึ้นแล้ว เมื่อทำการประเมินภาษีแล้ว การนับอายุความการเรียกเก็บในเวลา 10 ปี สิ้นสุดลงทันที
เมื่อตั้งคณะกรรมการประเมินภาษีแล้วจากนี้ไปเหลือเพียงขั้นตอนรอดูว่านายทักษิณจะยอมเสียภาษีหรือไม่ หากไม่มาเสียภาษีตามกำหนดได้สั่งการให้กรมสรรพากรดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลในขั้นต่อไป แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตอบหนังสือกลับมาแล้วว่าการซื้อขายหุ้นใน ตลท.ได้รับการยกเว้นภาษี แต่การซื้อขายเปลี่ยนมือแบบ Big Lot 3-4 ขั้นตอน จากนายทักษิณ ขายไปยังบริษัท แอมเพิลรีช และจากบริษัท แอมเพิลรีช ขายให้นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ราคา 1 บาทต่อหุ้น และเพียงระยะเวลาไม่นานได้ขายหุ้นให้กับเทมาเส็คราคา 49 บาทต่อหุ้นในปี 2549 มีกำไรต้องประเมินเสียภาษีในปี 2550 ราคา 48 บาท จากความซับซ้อนดังกล่าวที่ประชุมหน่วยงานด้านกฎหมายมองว่ามีพฤติกรรมอำพรางควรได้รับการยกเว้นภาษีหรือไม่ จึงต้องส่งเรื่องให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน
รัฐบาลจึงไม่ต้องถูกมองว่ามีการเกี้ยเซี้ยะทางการเมืองในการเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณ กรณีขายหุ้นชินคอร์ปให้กับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ เมื่อปี 2549 คิดเป็นมูลค่า 16,000 ล้านบาท เนื่องจากนายกรัฐมนตรีย้ำชัดเจนว่าจะไม่ใช้มาตรา 44 เพราะจะไม่ใช้พร่ำเพรื่อและไม่ให้กระทบต่อหลักการจัดเก็บภาษีทั่วไป และให้
ให้ยึดหลักนิติธรรมให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ดังนั้น ขั้นตอนอีก 16 วันที่เหลือจึงดำเนินการได้ในส่วนที่รัฐบาลดำเนินการ ที่เหลือต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา.-สำนักข่าวไทย