ทำเนียบรัฐบาล 7 ธ.ค. – รัฐบาลเพิ่มอำนาจแบงก์ชาติดูแลแบงก์รัฐ สั่งคลังเร่งเสนอ ครม.คุมสหกรณ์ทั่วประเทศ หลังภารกิจและเงินทุนสูงขึ้น
พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน โดยกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพิ่ม ควบคุมดูแลด้านความมั่นคงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และสั่งการให้แบงก์รัฐต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. ทั้งกำหนดสัดส่วนดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) มาตรการทางบัญชี การบริหารความเสี่ยง การกำหนดข้อห้ามสำหรับคณะกรรมการอิสระจากบุคคลภายนอก หลังจากที่ผ่านมาติดขัดเรื่องกฎหมายจัดตั้งของแต่ละแห่ง
อีกทั้งหากแบงก์รัฐมีปัญหาเงินกองทุน BIS ต่ำกว่าข้อกำหนด ธปท.มีอำนาจกำหนดแนวทางการจัดทำแผนเพื่อแก้ปัญหาฐานะทางการเงิน เพราะที่ผ่านมาได้แต่แนะนำ แต่แบงก์รัฐไม่ดำเนินการตาม และหากปล่อยให้แบงก์มีปัญหาโดยไม่ดำเนินการตามข้อกำหนด ได้กำหนดเพิ่มบทลงโทษโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 500,000-1 ล้านบาท รวมถึงเพิ่มบทลงโทษที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลด้วย แต่ที่ประชุมยอมรับข้อหารือเพิ่ม เนื่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเป็นรายกลุ่มตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้น จึงต้องแยกการดูแลกลุ่มดังกล่าวเมื่อมีภาระหนี้เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังมอบหมายให้กระทรวงการคลังเร่งศึกษาแนวทางการกำกับดูแลสหกรณ์ทั้งระบบ จากปัจจุบันกรมส่งเสริมสหกรณ์กำกับดูแล แต่สหกรณ์ทั่วประเทศมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายและมีเงินทุนสูงขึ้น จึงต้องมีระบบกำกับดูแล มีการจัดทำบัญชีที่มีมาตรฐานเหมือนกับสถาบันการเงิน.-สำนักข่าวไทย