ทำเนียบรัฐบาล 31 ม.ค. – พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) วงเงินลงทุนรวม 9,088.8 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ 5,400 ล้านบาท และเงินรายได้ของกฟน. 3,688.8 ล้านบาท
สำหรับแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าฉบับเดิมปี 2551-2556 ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ 1.โครงการปทุมวัน จิตรลดา และพญาไท เพิ่มเติม 2.โครงการพระราม 3 และ 3.โครงการนนทรี วงเงินรวม 5,699 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการนั้นโครงการพระราม 3 และนนทรี ใช้วิธีว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบและจัดทำเอกสารประกวดราคา เพื่อจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้าง ซึ่งพบว่าจากการประเมินการใช้วงเงินลงทุนโครงการนนทรีและพระราม 3 เกินกว่ากรอบวงเงินลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบ จึงได้มีการเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างท่อร้อยสายหลักเป็นก่อสร้างอุโมงค์ในถนนพระราม 3 ช่วงจากสถานีต้นทางถนนตก-สะพานพระราม 9 รวม 3.6 กิโลเมตร เนื่องจากไม่สามารถก่อสร้างท่อร้อยสายหลักเพิ่มได้ด้วยข้อจำกัด ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ราคาต่อหน่วยของวัสดุอุปกรณ์และแรงงานเพิ่มขึ้น จึงได้มีการปรับเป้าหมายการดำเนินงานทั้งปริมาณงาน เงินลงทุน และระยะเวลาการดำเนินงาน
ทั้งนี้ ให้ กฟน.จัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงในแผนงานฯ (ฉบับปรับปรุง) เพื่อลดความเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดการดำเนินงานล่าช้า และหรือเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น กฟน.ควรมีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นจากแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน พร้อมทั้งกำกับดูแลการพาดสายของหน่วยงานอื่น ๆ ในปัจจุบันให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกันยังให้ กฟน.ควบคุมต้นทุนการดำเนินงานให้เป็นไปตามตามแผนงานเพื่อการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่ออัตราค่าไฟโดยรวมและให้จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ให้ กฟน.บูรณาการโดยดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพฯ การประปานครหลวง (กปน.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อให้สามารถดำเนินตามแผนงานดังกล่าวตามวัตถุประสงค์ ลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน ลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และประชาชนผู้ใช้บริการที่เกี่ยวข้อง.-สำนักข่าวไทย