กรุงเทพฯ 9 ต.ค. – แกนนำม็อบหนี้สินไม่รับแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ตามมติ ครม. 2 ต.ค. เรียกร้องขยายเวลาขึ้นทะเบียนอีก 60 วันเสนอ กฟก.ซื้อหนี้มาบริหารเอง
นายณรงค์ อ่อนสะอาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุมกับกลุ่มหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และฝ่ายความมั่นคง ซึ่งได้มีการหารือในประเด็นที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการ กฟก.เฉพาะกิจได้ให้เกษตรกรขึ้นทะเบียนหนี้สินปี 2561 ภายใน 60 วันตามที่เกษตรกรร้องขอ ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 13 ตุลาคมนี้ ซึ่งกลุ่มเกษตรกรเรียกร้องให้ขยายเวลาเพิ่มอีก 60 วัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรอ้างว่าตามระยะเวลาเดิมสมาชิก กฟก.มาขึ้นทะเบียนไม่ทัน ซึ่งที่ประชุมได้รับเรื่องที่จะขยายเวลา
นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรยังขอให้ยกเลิกการใช้คู่มือการกลั่นกรองตรวจสอบยืนยันข้อมูลหนี้สินเกษตรกรออกโดยคณะกรรมการ กฟก.เฉพาะกิจชุดก่อนหน้าที่มีถึง 16 ขั้นตอน เนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิ์ของสมาชิก กฟก. กว่า 300,000 ราย ซึ่งขึ้นทะเบียนหนี้สินไว้นานแล้ว ขณะนี้มีสมาชิก กฟก.จำนวนหนึ่งถูกธนาคารเจ้าหนี้ยื่นฟ้องศาล ศาลสั่งให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์และขายทอดตลาด อีกส่วนหนึ่งเป็นหนี้โดยหลักทรัพย์ถูกขายไปยังบุคคลที่ 3 เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์แล้ว หากยกเลิกขั้นตอนกลั่นกรองตรวจสอบจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้เร็วขึ้น ซึ่งนายณรงค์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การสำรวจหนี้สินที่ต้องผ่านการกลั่นกรอง 16 ขั้นตอนอาจหมดอายุไปตามอายุการทำงานของคณะกรรมการ กฟก.เฉพาะกิจชุดก่อนหน้า ทั้งนี้ จะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กฟก.เฉพาะกิจ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานพิจารณาสัปดาห์นี้
นายยศวัจน์ ชัยวัฒนศิริกุล ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) กล่าวว่า ต้องการเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ขอให้ ธ.ก.ส.ขายหนี้ให้ กฟก.ตามที่ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างธ.ก.ส.กับ กฟก.ในเงื่อนไขตัดเงินต้นลงครึ่งหนึ่ง ยกดอกเบี้ยให้ โดยกลุ่มเกษตรกรไม่ยอมรับแนวทางแก้หนี้ที่ผ่านมติ ครม.เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 โดยเกษตรกรกว่า 400,000 ราย มูลหนี้ 35,000 ล้านบาท เป็นหนี้ทั้ง ธ.ก.ส.และธนาคารอื่น ๆ ซึ่งเกษตรกรจะผ่อนชำระกับ กฟก.เป็นเวลา 20 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อปี และหาก กฟก.แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรไม่ได้สมควรยุบหน่วยงานไป จากนั้นนายยศวัจน์ จึงเดินทางกลับไปยังที่ชุมนุมบริเวณหน้ากระทรวงการคลังตามเดิม
ส่วนด้านหน้ากระทรวงเกษตรฯ ยังมีม็อบเกษตรกร นำโดยนางนิสา คุ้มกอง ประธานกลุ่มเครือข่ายกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้นำเกษตรกรจังหวัดภาคกลางชุมนุมรอเจรจากับกระทรวงเกษตรฯ ให้ช่วยเหลือเจรจาแก้ปัญหาหนี้สินที่กู้ยืมจากสหกรณ์และธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ อยู่.-สำนักข่าวไทย