กรุงเทพฯ 19 ธ.ค. – ม็อบหนี้สินเกษตรกรยื่นเงื่อนไข กฟก. เร่งแก้ปัญหาหนี้สิน ขู่นำสมาชิกจากทุกภาคล้อมกรุง หากเจรจาไม่สำเร็จบุกชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรฯ
สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) บุกกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเจรจาให้แก้ปัญหาหนี้สิน ประกอบด้วย กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) ซึ่งมีนายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุลเป็นแกนนำและกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรจากจังหวัดนครสวรรค์และกำแพงเพชร นำโดยนายไพฑูรย์ เอี่ยมสะอาด เข้ามาเรียกร้องให้นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาการประธานคณะกรรมการ กฟก.เฉพาะกิจแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรให้ทั่วถึงและเท่าเทียม
ทั้งนี้ นายกฤษฎา ได้มอบหมายให้นายณรงค์ อ่อนสะอาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ เป็นประธานคณะอนุกรรมการประสานเจรจาหนี้สินสถาบันการเงินของเกษตรกรสมาชิก กฟก. ซึ่งได้เชิญสมาคมธนาคารไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ฝ่ายความมั่นคงร่วมประชุมรับฟังข้อคิดเห็น โดยกลุ่มของนายยศวัจน์ เรียกร้องให้จัดตั้งคณะกรรมการ กฟก. ระดับจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรใกล้ชิด ซึ่งที่ประชุมรับจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กฟก.เฉพาะกิจชุดรักษาการวันที่ 24 ธันวาคมนี้ ส่วนการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการ กฟก. ชุดใหม่นั้น กฟก.ได้ประสานกรมการปกครองมีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะเร่งดำเนินการ แต่ขอให้เป็นภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส.
ส่วนข้อเสนอของบประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรนั้น ที่ประชุมรับเรื่องไว้พิจารณา แต่แจ้งแกนนำเกษตรกรว่า กฟก.มีงบประมาณ 200 ล้านบาท สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพโดยเร่งด่วนได้ทันที ซึ่งจะต้องทำแผนพัฒนาอาชีพมาเสนอ สำหรับสมาชิกที่อยู่นอกเกณฑ์การช่วยเหลือของ กฟก. เนื่องจากมีมูลหนี้เกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 1,700 ราย ซึ่งแกนนำระบุว่าทางธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราห์ (ธอส.) และธนาคารพาณิชย์อื่นยังคงฟ้องร้องยึดทรัพย์ในส่วนที่เป็นหนี้เสีย จึงขอให้สมาคมธนาคารไทยชะลอการดำเนินการทางกฎหมายไว้ก่อน ทั้งนี้ เรียกร้องให้ยกเลิกมติ ครม. 2 ตุลาคม 2561 ที่ให้ ธ.ก.ส.ปรับปรุงโครงสร้างหนี้สมาชิก กฟก. โดยพักเงินต้นร้อยละ 50 หยุดดอกเบี้ยเดิม แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระเงินต้นอีกครึ่งหนึ่งระยะเวลา 15 ปี ดอกเบี้ย MRR-3 แล้วให้ดำเนินการตามมติ ครม. 7 เมษายน 2553 ที่ให้ ธ.ก.ส.ตัดเงินต้นครึ่งหนึ่งและยุติดอกเบี้ย แล้วขายหนี้ที่เหลือร้อยละ 50 แก่ กฟก.มาบริหารแทน ซึ่งทาง ธ.ก.ส.ยินดีที่จะทำเช่นนั้น แต่มีเงื่อนไขให้รัฐชดเชยส่วนที่เสียหาย
ทางด้านกลุ่มเกษตรกรจังหวัดนครสวรรค์และกำแพงเพชรนั้น นายโกวิทย์ ขอให้ กฟก.ช่วยฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ โดยจะรวบรวมข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดมาแปรรูป ของบประมาณ 15 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมรับจะพิจารณา แต่เกษตรกรต้องทำแผนโครงการอาชีพมาจึงจะอนุมัติงบช่วยเหลือได้
นายณรงค์ กล่าวว่า ได้เสนอเรื่องแก้ปัญหาหนี้สินที่นอกหลักเกณฑ์ไปยังคณะกรรมการขับเคลื่อนประเทศ (กขป. 5) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งดำเนินการแก้ไขหนี้สินนอกระบบพิจารณาแล้ว โดย กขป. 5 จะเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่อยู่นอกหลักเกณฑ์ของ กฟก. ต่อไป
ด้านนายยศวัจน์ กล่าวว่า จะให้เวลาคณะกรรมการ กฟก.เฉพาะกิจชุดรักษาการหาแนวทางแก้ปัญหาจนถึงวันที่ 2 มกราคม 2562 หากไม่มีความคืบหน้าจะนำเกษตรกรจากทุกภาคขับรถอีแต๋นมาอยู่รอบปริมณฑลเพื่อเจรจาอีกครั้ง ทั้งนี้ ถ้าได้คำตอบไม่เป็นที่น่าพอใจจะนำเกษตรกร 3,000 คนบุกเข้ามาชุมนุมที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.-สำนักข่าวไทย