กรุงเทพฯ 96 พ.ย. – เครือข่ายหนี้สิน กฟก.ขู่จะนำเกษตรกร 4,000 คน ชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรฯ หลัง 15 พ.ย.นี้ ประกาศสู้ไม่ถอย ยืนยันไม่รับแนวทางแก้หนี้ตามมติ ครม. 2 ต.ค.61
นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล ที่ปรึกษาสหพันธ์เครือข่ายเกษตรกรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะอนุกรรมการประสานเจรจาหนี้สินสถาบันการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) นัดหมายให้ผู้แทนเกษตรกรที่ยังมีปัญหาหนี้สินมาประชุมร่วมกัน เพื่อหาแนวทางแก้ไขวันที่ 15 พฤศจิกายน โดยตนเองและนางนิสา คุ้มกอง ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายหนี้สินเกษตรกรภาคกลาง พร้อมเกษตรกร 150 คน ที่ชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรฯ มากว่า 3 สัปดาห์ ยืนยันว่า กฟก.ต้องช่วยเหลือเกษตรกร โดยเจรจากับธนาคารและสหกรณ์เจ้าหนี้ให้ตัดเงินต้นร้อยละ 50 และหยุดดอกเบี้ย ส่วนเงินต้นอีกครึ่งหนึ่งนั้น ให้ กฟก.ไปซื้อหนี้จากเจ้าหนี้ เพื่อให้เกษตรกรมาผ่อนชำระกับ กฟก. เนื่องจาก กฟก.มีเงื่อนไขการผ่อนเป็นระยะเวลานานกว่าธนาคารและสหกรณ์ หากทำควบคู่กับการพัฒนาอาชีพ เกษตรกรจะมีความสามารถในการผ่อนชำระ อีกทั้งจะช่วยให้เจ้าหนี้ยับยั้งการฟ้องร้องยึดทรัพย์และนำหลักทรัพย์ของเกษตรกรขายทอดตลาด
นายยศวัจน์ กล่าวว่า แนวทางคณะกรรมการบริหาร กฟก.ชุดเฉพาะกิจที่มีนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เสนอจะเป็นคนกลางให้เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการเจรจาหนี้สินกับเจ้าหนี้ เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้นั้น กลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ แม้นายกฤษฎาชี้แจงแล้วว่าไม่สามารถซื้อหนี้ได้ เนื่องจากจะไม่เป็นไปตามระเบียบการบริหารการเงินการคลังที่ดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานของ กฟก. แล้วระบุว่า การจัดการหนี้โดยการซื้อหนี้ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ คือ ต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากการทำการเกษตร มูลหนี้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท และเป็นหนี้ที่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายหนี้สินเห็นว่าตามเจตนารมณ์ของกฎหมายการตั้ง กฟก. คือ แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรทั้งหมด จึงเห็นว่า กฟก.สามารถใช้แนวทางซื้อหนี้เกษตรกรจากสถาบันการเงินเข้ามาบริหารจัดการได้เองตามมติครม.ปี 2553 ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นได้ให้กฟก. ดำเนินการ ดังนั้น หากวันที่ 15 พฤศจิกายนยังตกลงกันไม่ได้ จะนำเกษตรกรจากทั่วประเทศประมาณ 4,000 คน มาชุมนุมในกรุงเทพฯ สมทบกับม็อบเกษตรกรที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ โดยจะไม่ยอมถอยเด็ดขาด
สำหรับคณะกรรมการบริหาร กฟก.ชุดเฉพาะกิจได้ดำเนินการครบ 180 วันแล้ว หลังจากที่คสช. ได้ขยายเวลาตามภารกิจมาแล้ว 2 ครั้ง ขณะนี้นายกฤษฎายังคงทำหน้าที่รักษาการคณะกรรมการกฟก. จนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ โดยตามพรบ. กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พม ศ. 2542 กำหนดให้กฟก. มีหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้ได้คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งจะต้องกำหนดวันเลือกตั้งต่อไป
ล่าสุดคณะกรรมการบริหาร กฟก.ชุดเฉพาะกิจได้ประชุมสรุปผลการดำเนินงานเสนอ ครม. รับทราบ รวมทั้งเตรียมส่งต่อคณะกรรมการชุดใหม่ที่จะเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการบริหาร กฟก. ชุดเฉพาะกิจได้เห็นชอบปรับปรุงกฎหมายกองทุนฟื้นฟูฯ โดยแก้ไขมาตรา 16 23 และ 37/9 ซึ่งผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแล้ว โดยมีเนื้อหาปรับปรุงการบริหารระบบงานของสำนักงานกองทุนตามข้อสังเกตของ สตง.ปรับปรุงประสิทธิภาพสำนักงานกองทุนฯ ด้านบัญชี การจัดการภายในและศักยภาพพัฒนาเกษตรกร พร้อมกันนี้อนุมัติโครงการฟื้นฟูเกษตรกรให้กับองค์กรเกษตรกร 665 โครงการ เกษตรกรเข้าร่วม 10,659 ราย วงเงิน 67.03 ล้านบาท ฟื้นฟูเกษตรกรประสบอุทกภัย 1,114 โครงการ และ กฟก.ได้ช่วยแก้หนี้ให้เกษตรกรผ่านเกณฑ์ตรวจสอบคุณสมบัติไปแล้ว 55,515 ราย มูลหนี้ 9,796 ล้านบาท รวมทั้งกรณีแก้หนี้ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. แบ่งเป็น กฟก.ซื้อหนี้ และ ธ.ก.ส.ปรับโครงสร้างหนี้ 1,518 ราย มูลหนี้ 642 ล้านบาท กรณีเกษตรกรขาดคุณสมบัติตามระเบียบ กฟก. โดยกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับ กฟก. เป็นคนกลางเจรจากับเจ้าหนี้ช่วยให้เกษตรกรซึ่งเป็นหนี้เสียกับ ธ.ก.ส. 36,605 ราย มูลหนี้ 10,200 ล้านบาท เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำเร็จ โดย ธ.ก.ส.พักเงินต้นให้ร้อยละ 50 และดอกเบี้ยทั้งหมด แล้วให้ผ่อนชำระส่วนต้นที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งภายใน 15 ปี อัตราดอกเบี้ย MRR-ร้อยละ 3 ส่วนที่เหลือเป็นลูกหนี้ธนาคารรัฐ โดยเป็นหนี้เสีย 2,389 ราย มูลหนี้ 630 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อปรับโครงสร้าง อีกทั้งกลุ่มลูกหนี้สหกรณ์ 15,973 ราย มูลหนี้ 2,345 ล้านบาทและลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ 573 ราย มูลหนี้ 383 ล้านบาท ซึ่งเจรจาตกลงปรับพักเงินต้นครึ่งหนึ่งแล้วผ่อนชำระส่วนที่เหลือภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562.-สำนักข่าวไทย