กรุงเทพฯ 25 ก.ย. – หลายฝ่าย พร้อมร่วมมือแก้ปัญหาหนี้ นักเศรษฐศาสตร์ เผยหนี้ครัวเรือน ระเบิดลูกใหม่ ด้านบสย. จับมือ ธปท. ลุยภาคใต้ เร่งแก้หนี้ SMEs ขณะที่รัฐบาลชวนรายย่อย ร่วมมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ หลังยอดหนี้ภาคครัวเรือนพุ่ง
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 65 ร้อยละ 86-88% ของจีดีพี ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นประเทศมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงติดอันดับโลก และเป็นตัวเลขสูง เข้าข่ายวิกฤติหนี้สินครัวเรือนแล้ว ตัวเลขหนี้ที่ปรากฏนี้ยังไม่นับรวมการเป็นหนี้นอกการกำกับดูแลของแบงก์ชาติและหนี้นอกระบบ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนทั้ง อาจทะลุร้อยละ 90 ของจีดีพี นับเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ยังทำให้มาตรการกระตุ้นการบริโภคได้ผลลดลง เพราะขณะนี้อัตราการผ่อนชำระหนี้เมื่อเทียบกับรายได้ร้อยละ 34-35% ฉะนั้น ผู้บริโภคจะมีขีดจำกัดในการบริโภคเพิ่ม หากรายได้ไม่เพิ่มขึ้นมากพอ การปรับค่าแรงขั้นต่ำล่าสุดไม่ได้ทำให้ค่าจ้างแท้จริงเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ขณะนี้ มีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือประมาณร้อยละ 12 ของสินเชื่อรวม ประมาณ 1 ล้านบัญชี หากดอกเบี้ยปรับตัวสูงและเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวดีนัก ลูกหนี้ที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลืออาจเพิ่มเป็นร้อยละ 15 ของสินเชื่อรวมได้ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น จึงแนะหากแนวทางการเตรียมนำออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ และรายย่อย ขณะนี้ ยอดหนี้ NPL อาจเพิ่มขึ้นในยุคดอกเบี้ยแพงขึ้น อย่างไรก็ตาม NPL ในขณะนี้ยังถือว่าบริหารจัดการได้ เพราะในช่วงวิกฤติปี 2540 NPL เคยพุ่งแตะร้อยละ 52 ของสินเชื่อรวม ธนาคารของไทย ยังมีกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio อยู่ที่ร้อยละ 19.7 ฉะนั้นวิกฤติภาคการเงินหากเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้จะมาจากกลุ่ม Non-Bank กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ มากกว่า
บสย. จับมือ ธปท. ลุยภาคใต้ เร่งแก้หนี้ SMEs
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า บสย. ได้ผนึกความร่วมมือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในโครงการศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs สัญจร เพื่อนำทีมที่ปรึกษา “หมอหนี้ เพื่อประชาชน” ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้คำปรึกษาด้านการขอสินเชื่อและการแก้ไขหนี้ ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง
นับว่าได้รับความสนใจจากเอสเอ็มอี เข้ามาปรึกษา เพื่อหาช่องทางเคลียร์หนี้เดิม และเติมหนี้ใหม่ ในการฟื้นกิจการหลังโควิด-19 บสย. อนุมัติค้ำประกันแล้ว 12,899 ราย จำนวน 17,517 ล้านบาท คาดว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะค้ำประกันเพิ่มอีก 3,900 ราย จำนวน 5,300 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังเติมความรู้ (อบรม+ให้คำปรึกษา) เติมตุณภาพชีวิต ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ค้ำประกันชดเชย-สาขา 137 ราย จำนวน 235 ล้านบาท โดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน หรือ บสย. F.A. Center ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.63 – 23 ก.ย.65 ผู้ประกอบการเข้ารับบริการ บสย. FA Center ทั้งสิ้น 10,068 ราย มีความต้องการสินเชื่อ 11,874 ล้านบาท จัดอบรมไปแล้ว 82 หลักสูตร ผู้เข้ารับการอบรม 6,438 ราย
รัฐบาล ชวนรายย่อย ร่วมมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ หลังยอดหนี้ภาคครัวเรือนพุ่ง
ในวันพรุ่งนี้ (26 ก.ย.65) ช่วงบ่าย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน พร้อมด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และ ผู้ว่าการ ธปท. ร่วมงานแถลงข่าว “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” โดยมี ผอ.สศค. ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. ประธานสมาคมธนาคารไทย และ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรีคอนซูมเมอร์ ร่วมเสวนา หัวข้อ : “เป็นหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ณ ห้องประชุม @BOT ชั้น 5 อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธปท. เพื่อให้ทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ โดยเปิดให้ลูกค้ารายย่อย บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สมัครไกล่เกลี่ยหนี้ผ่านออนไลน์ ขณะที่ ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจหนี้ครัวเรือนไทย สิ้นปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 89.3 สูงสุดในรอบ 16 ปี ภาระหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน 5 แสนบาทต่อครอบครัว .-สำนักข่าวไทย