กทม. 4 ต.ค.-สถาบันมะเร็งฯเตือนโรคมะเร็งอัณฑะแม้พบน้อย แต่พบได้โดยเฉพาะผู้ชายวัย 15–35 ปี กลุ่มเสี่ยง แนะให้ตรวจเป็นประจำหลังการอาบน้ำ หากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งอัณฑะเป็นโรคมะเร็งที่พบได้น้อยและไม่ติด 1ใน 10ของมะเร็งที่พบบ่อยในชายไทย แต่ละปีมีผู้ป่วยราว 0.7 รายต่อชายไทย 100,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของมะเร็งทั้งหมดในเพศชาย โดยมักพบในช่วงอายุ 15-35 ปี แต่ก็มีโอกาสพบได้ในทุกอายุทั้งในเด็กจนถึงผู้สูงอายุเช่นกัน
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรคแต่สันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมโดยเฉพาะประวัติการมีคนในครอบครัว เช่น พ่อ หรือพี่ชายเป็นโรคมะเร็งอัณฑะมาก่อน นอกจากนี้ผู้ที่มีอัณฑะค้างอยู่ในอุ้งเชิงกรานไม่เคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชายปกติอีกด้วย
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของโรคมะเร็งอัณฑะที่พบบ่อย คือคลำลูกอัณฑะเจอเป็นก้อนแข็งและไม่เจ็บ ซึ่งแตกต่างจากภาวะลูกอัณฑะอักเสบเฉียบพลันที่พบว่ามีอาการลูกอัณฑะบวมและมีอาการเจ็บร่วมด้วย บางครั้งอาจมีอาการหน่วงๆ ที่ลูกอัณฑะหรือมีน้ำในถุงอัณฑะเกิดขึ้นเฉียบพลัน ดังนั้นการตรวจลูกอัณฑะด้วยตัวเองเป็นประจำ โดยแนะนำให้ตรวจหลังอาบน้ำ ให้ตรวจลูกอัณฑะไล่ไปทีละข้าง โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ค่อยๆ คลำเลื่อนไปเรื่อยๆ คลำดูว่ามีก้อนหรือมีอาการเจ็บร่วมด้วยหรือไม่ บริเวณด้านหลังของลูกอัณฑะจะคลำได้ส่วนหยุ่นๆ ขนาดเล็กซึ่งถือว่าเป็นปกติ ถ้าคลำได้ก้อนหรือไม่แน่ใจส่วนใดผิดปกติหรือไม่ ควรรีบปรึกษาแพทย์
ทั้งนี้ ความผิดปกตินั้นอาจเป็นถุงน้ำหรือเส้นเลือดขอดบริเวณลูกอัณฑะซึ่งพบได้บ่อยกว่าเนื้องอก หรือมะเร็งอัณฑะ ในกรณีที่เป็นมากมักมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานหรืออวัยวะในช่องท้องหรือปอด การรักษาต้องตัดลูกอัณฑะทิ้งและเลาะตัดต่อมน้ำเหลืองออกร่วมด้วย ถ้าเป็นมากกว่านั้นอาจให้ยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสีร่วมด้วย ควรมีการตรวจลูกอัณฑะอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากเจอความผิดปกติของลูกอัณฑะจะได้วินิจฉัยโรคและให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที.-สำนักข่าวไทย