กรุงเทพฯ 3 ต.ค. – สมาคมผู้ค้าปลีกไทยและกลุ่มร่วมทุนแวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ เรียกร้องกรมสรรพากรพิจารณาตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนักท่องเที่ยวใหม่ มั่นใจ 5 จุดยุทธศาสตร์แหล่งช้อปปิ้งกลางเมือง ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายสร้างรายได้เข้าประเทศ
นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากการที่กรมสรรพากรประกาศรับสมัครผู้ประสงค์ให้บริการเป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว โดยรับสมัครตั้งแต่วันที่ 10 – 17 กันยายนที่ผ่านมา ผลการอนุมัติจากกรมสรรพากรปรากฏว่ามีผู้ได้รับอนุมัติให้เป็นตัวแทนคืนแวตเพียงรายเดียว คือ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด โดยให้บริการ 3 จุด คือ สาขาลิโด้ สาขาแบงค์ค๊อกไนท์บาร์ซาร์ และสาขาผดุงด้าว (เยาวราช) นั้น ส่งผลให้บริษัทร่วมทุนที่จดทะเบียนในนามแวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ประกอบด้วย ห้างเซน ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, ห้างเซ็นทรัล ชิดลม, ดิเอ็มโพเรียม, โรบินสัน สุขุมวิท และสยามพารากอน ที่เตรียมความพร้อมทั้งระบบและลงทุนในเคาน์เตอร์แวตรีฟันด์ฟอร์ทัวร์ริสต์เป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี แต่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมกรมสรรพากรเลือกร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นอาหารและของใช้ประจำวัน มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อใบเสร็จน้อยกว่า 100 บาท และเดินทางไม่สะดวก แทนที่ย่านศูนย์การค้าหลักของประเทศ สินค้าหลากหลาย เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องหนัง เครื่องใช้ไฟฟ้า และมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อใบเสร็จมากกว่า 2,000 บาท ขณะที่เม็ดเงินด้านการลงทุนเป็นของภาคเอกชน แต่ภาครัฐไม่ได้ร่วมลงทุนแต่อย่างใด พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเพราะเหตุใดกรมสรรพากรกำหนดให้จุดคืนภาษีไม่เกิน 3 จุด และไม่มีการชี้แจงตั้งแต่แรกว่าคุณสมบัติการจดทะเบียนบริคณห์สนธิเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนในการคืนแวตนักท่องเที่ยวต่างชาติและเสนอจุดคืนภาษีนั้นไม่ครบถ้วน จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้คำชี้แจงจากกรมสรรพากร ประกอบกับการประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติล่าช้ากว่ากำหนด โดยประกาศวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา จากเดิมกำหนดไว้วันศุกร์ที่ 28 กันยายน แต่ให้เริ่มดำเนินการทันทีวันที่ 1 ตุลาคม 2561
นายวรวุฒิ กล่าวว่า เตรียมยื่นอุทธรณ์เรียกร้องให้กรมสรรพากรพิจารณาใหม่ ภายหลังจากได้รับหนังสือยืนยันว่าไม่ผ่านการพิจารณาจากกรมสรรพากรอย่างเป็นทางการ ยืนยันว่า 5 โลเคชั่น ได้แก่ ห้างเซน ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, ห้างเซ็นทรัล ชิดลม, ดิเอ็มโพเรียม, โรบินสัน สุขุมวิท และสยามพารากอน ตามที่เคยเสนอกับกรมสรรพากรตั้งแต่แรกและมีการทดลองระบบกับกรมสรรพากรทั้ง 5 จุด สามารถรองรับและเอื้อต่อการบริหารจัดการโครงการดาวน์ทาวน์แวตรีฟันด์ฟอร์ทัวร์ริสต์ให้ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ มองว่าในประเทศที่มีการคืนแวตนักท่องเที่ยว ไม่มีประเทศใดตั้งจุดคืนแวตในร้านค้าขนาดเล็ก ทุกประเทศล้วนแล้วแต่กำหนดจุดคืนแวตในห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าทั้งนั้น ซึ่ง 5 จุดแหล่งช้อปปิ้งเป็นที่รู้จักอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวและแหล่งที่มีร้านค้าจดทะเบียน Vat Refund for Tourists มากที่สุด โดยได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว (ภ.พ. 10) ตามที่กรมสรรพากรกำหนด และมีระบบการออกใบ ภ.พ.10 อยู่แล้ว จึงสามารถออกใบ ภ.พ 10 ได้ดีกว่าร้านค้าขนาดเล็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบการออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว จึงช่วยลดความแออัดให้กับนักท่องเที่ยวในสนามบินได้เป็นอย่างดี
ด้านการขายสินค้าและบริการของห้างสรรพสินค้า มีขั้นตอนและกระบวนการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอย่างครบวงจร จนถึงการออกใบ ภ.พ.10 ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวยื่นแบบคําร้องขอคืนแวตมากกว่า 900,000 ใบ บริเวณ 5 จุดดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณการขอใบ ภ.พ. 10 ทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันเรียกร้องว่าการพิจารณาเปิด 5 จุด จาก 3 จุด จะเอื้อประโยชน์ให้กับนักท่องเที่ยวที่มีการขอคืนแวต โดย 5 จุดนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 300,000 คนต่อวัน เดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ มองว่าหากกรมสรรพากรอนุมัติ 5 จุดนี้จะช่วยกระตุ้นระบบหมุนเวียนเศรษฐกิจไทยได้มาก และยังเป็นการระบายความคับคั่งแออัดของนักท่องเที่ยวที่ต้องการขอคืนแวตในสนามบินจำนวนมาก รวมทั้งทำให้ร้านค้าหรือผู้ประกอบการขนาดกลางถึงเล็กในเมืองมีรายได้จากนักท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวได้รับคืนแวตสกุลเงินบาท นักท่องเที่ยวก็จะจับจ่ายใช้สอยต่อเนื่อง คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจกว่า 4,000 ล้านบาทในช่วงการทดลอง 6 เดือน. – สำนักข่าวไทย