สำนักข่าวไทย 23 ก.ย. – กรมสุขภาพจิต แนะผู้ที่มีอาการ“ กังวล คิดฟุ้งซ่าน กลัวเกินเหตุ” ร่วม กับ ท้องเสีย ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม หากเป็นเกิน 6 เดือน ให้พบแพทย์รักษา ชี้ไม่ใช่เรื่องของการคิดมาก และอย่าซื้อยากินเอง
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชของประชาชนไทย นอกจากโรคทางจิตแล้วยังมีในกลุ่มของโรควิตกกังวล (anxiety disorders)ซึ่งผู้ป่วยจะมีจิตใจแปรปรวนอ่อนไหวง่าย บ่อยคือโรควิตกกังวลทั่วไป (general anxiety disorder) ซึ่งในคนปกติทั่วไปอาจเกิดความวิตกกังวลได้ เช่นกังวลเรื่องลูกไปโรงเรียน เรื่องการเข้าทำงานใหม่ แต่ว่าจะเป็นไม่นาน อาการจะหายไปเอง แต่ในผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป จะมีอาการติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน เด่นชัด คือ คิดฟุ้งซ่าน กลัวและกังวล ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น มีอาการใจลอย ตกใจง่าย ไม่สามารถหักห้ามใจไม่ให้คิดได้ และจะมีอาการทางกายปรากกฎร่วมด้วยอย่างน้อย 3 อย่าง เช่น กระสับกระส่าย เหนื่อยง่าย ใจสั่น ปวดตึงกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่ต้นคอ ไหล่ หลัง ใจเต้นเร็วและแรง หายใจไม่อิ่ม ท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย มือเท้าเย็น นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ เป็นต้น
ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตล่าสุดในปี 2556 พบประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นโรคนี้ร้อยละ 0.3 คาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 140,000 คน
สาเหตุของโรควิตกกังวลทั่วไปเกิดมาจากความผิดปกติทางจิตใจหรือความไม่สมดุลย์ของสารสื่อประสาทในสมอง เป็นโรคที่ประชาชนไทยมักเข้าใจผิดกันบ่อย คิดว่าผู้ป่วยแกล้งทำ หรือคิดว่าเกิดมาจากตัวเองคิดมากไปเอง ไม่ได้เจ็บป่วย จึงไม่ไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์เพื่อรักษาแก้ไขที่ต้นเหตุ ซึ่งโรคนี้มียารักษา และต้องใช้วิธีการบำบัดทางจิตสังคมร่วมด้วยเพื่อปรับความคิดและพฤติกรรมควบคู่กัน ที่น่าเป็นห่วงก็คือการซื้อยาหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากินเองเพื่อแก้ไขอาการที่ตัวเองเป็น เช่นนอนไม่หลับ ความกังวล ปวดศีรษะ ซึ่งจะมีผลเสียมากกว่า
ด้านนพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ จ.นครพนมกล่าวว่า โรควิตกกังวลทั่วไป หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคทางใจและทางกายตามมาอีกหลายโรคได้แก่ โรคซึมเศร้า นอนหลับยากหรือนอนไม่หลับ มีแนวโน้มใช้สารเสพติด เช่นดื่มเหล้า สูบบุหรี่ได้สูง รวมทั้งยังเสี่ยงเกิดโรคทางกายเช่นปวดหัวเรื้อรัง ลำไส้แปรปรวน มีรายงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าโรควิตกกังวล เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูง ร่างกายอ่อนแอติดเชื้อโรคได้ง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายต่ำ สำหรับผู้ที่กำลังมีอาการวิตกกังวลในขณะนี้ มีวิธีช่วยควบคุมหรือบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ดังนี้ 1. พักผ่อนให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงหรืองดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมทั้งเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากคาเฟอีนอาจกระตุ้นให้อาการแย่ลงได้ 2.รับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างครบถ้วนต่อเนื่อง หากมีความจำเป็นต้องซื้อยารักษาโรคหรือสมุนไพรต่างๆตามร้านขายยาทั่วไปควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน 3. ฝึกทำสมาธิ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และรู้จักการปล่อยวาง ซึ่งจะช่วยให้จิตใจสงบขึ้น .-สำนักข่าวไทย