รร.มิราเคิลฯ 18 ก.ย. – กรมปศุสัตว์ร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรระบาดไทย พร้อมประสานคมนาคมคุมเข้มเที่ยวบินจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หวั่นกระทบอุตสาหกรรมสุกรไทย
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการสัมมนา “โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fewer-ASF) มหันตภัยวงการสุกรไทย ทำอย่างไรจะรอดพ้น” จัดโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากจีนมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคและมาตรการควบคุมโรคในจีน จากข้อมูลทางระบาดวิทยา การระบาดที่ประเทศจีนมีสาเหตุหลักจากการที่นักท่องเที่ยวไปประเทศกลุ่มเสี่ยงนำอาหารปนเปื้อนเชื้อกลับมาแล้วนำอาหารเหลือทิ้งไปเลี้ยงสุกร องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) รายงานว่า พบการระบาดของโรคพบ 22 จุด ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมระบาดอยู่ในมณฑลเหลียวหนิง ขณะนี้แพร่ไปยังมองโกเลีย ล่าสุดพบเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในหมูป่าเบลเยี่ยมบริเวณติดต่อกับชายแดนประเทศฝรั่งเศส วันนี้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากยุโรปซึ่งเคยเผชิญการระบาดของโรคและควบคุมการระบาดได้เป็นผลสำเร็จ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกันและเผชิญโรคในประเทศไทย
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือแจ้งสำนักที่ปรึกษาทางการเกษตรประจำต่างประเทศให้แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวว่าประเทศไทยมีมาตรการห้ามนำเข้าสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์จากสุกรเข้ามาในราชอาณาจักร ห้ามนำอาหาร ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ติดตัวมาอย่างเด็ดขาด ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวไทยที่ไปท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น อนุภูมิภาคซาฮาราของทวีปแอฟริกา ประเทศซาดิเนียของทวีปยุโรป ประเทศจอร์เจีย ประเทศอาเซอร์ไบจัน ประเทศอาร์เมเนีย สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีนและล่าสุดที่ เบลเยี่ยม ห้ามนำเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์จากสุกรติดตัวกลับมา
ทั้งนี้ จะเพิ่มความเข้มงวดการเฝ้าระวังโรคทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยทำหนังสือไปยังกระทรวงกลาโหมเพื่อขอความร่วมมือตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิต ชิ้นส่วนซาก และผลิตภัณฑ์จากสุกรทั้งตามด่านชายแดนและช่องพรมแดน ท่าเรือระหว่างประเทศ รวมทั้งท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่ง ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อพบจะตรวจยึด เก็บตัวอย่างส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ และทำลายทิ้ง สิ่งที่เป็นห่วงที่สุด คือ การแพร่กระจายของเชื้อโรคทางเครื่องบิน เนื่องจากมีเที่ยวบินระหว่างไทย-จีนแต่ละวันหลายเที่ยวบิน รวมถึงเที่ยวบินไทยกับบางประเทศในยุโรป โดยกำลังหาแนวทางแก้ปัญหา คือ พวกเศษอาหารบนเครื่องบินโดยเฉพาะเที่ยวบินจากประเทศต้นทางที่มีความเสี่ยง ซึ่งได้ขอความร่วมมือไปยังบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกำลังจะทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมให้กำหนดแนวทางจัดเก็บเศษอาหารและทำลายทิ้ง ซึ่งจะต้องผ่านความร้อนเกิน 90 องศาเซลเซียส นานกว่า 60 นาที
ส่วนการควบคุมโรคได้จัดตั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการเฝ้าระวังโรค ASF ซึ่งมีผู้แทนจากกรมปศุสัตว์ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ (สสช.) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ (ศวพ.) สำนักควบคุมและป้องกันโรคระบาดสัตว์ (สคบ.) ผู้แทนจากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังจะเข้าร่วมเพิ่มศักยภาพการรองรับการตรวจของห้องปฏิบัติการ เช่น ศวพ.จะสามารถตรวจได้ถึง 200 ตัวอย่างในเดือนตุลาคมนี้ หากพบสุกรที่สงสัยว่าป่วยด้วยโรค ASF จะเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจห้องปฏิบัติการสามารถทราบผลภายใน 2 วัน
นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการส่งมอบชุดทดสอบภาคสนาม (Test Kit) ซึ่งจะสามารถตรวจยืนยันเชื้อไวรัส ASF ได้เป็นการเฝ้าระวังโรคเชิงรุกและจะพัฒนาให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้จะหารือกับประเทศเพื่อนบ้านร่วมมือกันป้องกันโรค โดยเฉพาะจากเวียดนามและลาว ซึ่งมีพรมแดนติดกับจีน ล่าสุดทางการลาวตื่นตัวและขอเข้ามาศึกษามาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรคจากไทยไปเป็นต้นแบบ อีกทั้งจะมีการรายงานสถานการณ์โรคระบาด เพื่อป้องกันการระบาดของโรคจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง อีกทั้งกรมปศุสัตว์จะสนับสนุน Test Kit เนื่องจากโรคระบาดหากตรวจพบเร็วจะสามารถควบคุมได้เร็ว
อธิบดีกรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐาน GAP และหากเป็นรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม ร่วมกับการจัดการด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำโรคเข้าสู่ฟาร์มได้ อีกทั้งไม่นำเศษอาหารไปเลี้ยงสุกร นอกจากนี้ให้สังเกตอาการสุกรอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดงและต่อมาเป็นสีเขียวคล้ำ พบภาวะแท้งในแม่สุกร หรือสุกรป่วย แล้วมีอัตราการตายประมาณ 30% ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรค ASF ให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอและปศุสัตว์จังหวัด เพื่อตรวจและสอบสวนโรคทันที ซึ่งขณะนี้กรมปศุสัตว์ออกประกาศห้ามนำเข้าและเคลื่อนย้ายสุกร ซากสุกร รวมถึงผลิตภัณฑ์จากสุกรที่มีต้นกำเนิดในจีน ระยะเวลา 90 วัน แต่เชื้อนี้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูงอยู่ได้นานประมาณ 6 เดือน หากการระบาดในจีนรุนแรงขึ้นจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศกระทรวงห้ามนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรจากจีนโดยเด็ดขาด
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อสรุปจากการสัมมนาวันนี้จะรวบรวมเสนอคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ให้พิจารณามาตรการชดเชยความเสียหาย หากโรค ASF แพร่เข้ามายังประเทศไทย เบื้องต้นจะเสนอจ่ายค่าชดเชยแก่เกษตรกรรายย่อย ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องดูแลตัวเอง เพราะหากต้องจ่ายค่าชดเชยแก่อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรทั้งหมด รัฐมีงบประมาณไม่เพียงพอ.-สำนักข่าวไทย