กรุงเทพฯ 17 ก. ย. – ปลัดกระทรวงพลังงานย้ำ 25 ก.ย. ยื่นข้อเสนอประมูลบงกช-เอราวัณ ท่ามกลางยังมีผู้คัดค้าน ส่วนผลสอบกองทุนอนุรักษ์รอลุ้น 21 ก.ย.
นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีมีผู้คัดค้านทีโออาร์การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกช- เอราวัณ ซึ่งเปิดเป็นรูปแบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ไม่ใช่จ้างผลิต (PSC) ว่าที่ผ่านมาดูด้วยความรอบคอบเป็นมาตรฐานสากล คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศมากที่สุด ซึ่งขณะนี้มีผู้ร้องคัดค้านไปยังศาลปกครองทางศาลให้ชี้แจงข้อมูล อย่างไรก็ตาม กำหนดวันยื่นประมูลด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐยังคงกำหนดเช่นเดิม 25 กันยายน 2561
ส่วนเรื่องการพิจารณางบกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ขณะนี้รอผลสอบเรื่องข้อสงสัยความโปร่งใส ซึ่งต้องมีคำตอบแก่ประชาชนให้ได้ หลังจากนั้นคณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งมี พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จึงจะนัดประชุม เพื่ออนุมัติงบปี 2562 วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท และงบไทยนิยมยั่งยืนปี 2561 วงเงิน 5,200 ล้านบาทต่อไป
หนึ่งในตัวอย่างของงานที่ใช้เงินกองทุนอนุรักษ์ คือ การประกวดภาพวาด ซึ่งจัดเป็นปีที่ 6 แล้วภายใต้ชื่องาน “พลังงานเพื่อชีวิต” มูลค่ารางวัลรวมกว่า 1 ล้านบาท เพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านการประหยัดและรู้คุณค่าของพลังงานให้กับเยาวชนในสถานศึกษาและประชาชนทั่วไป ปีนี้มีผลงานเข้าร่วมแข่งขัน 493 ภาพ จาก 130 สถาบันการศึกษา 66 จังหวัด โดยฝีมือผู้แข่งขันมีพัฒนาการสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปีการพิจารณามีผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น ศาสตราเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สื่อผสม) ดร.สังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร และนายประทีป คชบัว ศิลปินอิสระ ซึ่งเป็นคณะกรรมการในการตัดสินมีการจัดแสดงผลงานผู้ได้รางวัลตั้งแต่วันที่ 17-19 กันยายนนี้ ณ บริเวณวีรันดา ฮอลล์ ชั้น 1 เดอะคริสตัล (เอกมัย-รามอินทรา) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้ที่สนใจได้เข้าชมผลงานอย่างใกล้ชิด หรือสามารถเข้าชมผลงานภาพวาดจากการประกวดได้ที่ www.energy.go.th / FB Energypaintingcontest
นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรม ออกมาคัดค้านทีโออาร์ประมูลแหล่งบงกช-แหล่งเอราวัณ ระบุเร่งรีบประมูลและทีโออาร์ที่ใช้ในการประมูลครั้งนี้ไม่ใช่ทีโออาร์ที่จะทำให้ประเทศได้รับรายได้ที่สูงสุด โดยควรใข้ระบบสัญญาจ้างผลิตที่ประเทศจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดประมาณ 90% จาก 200,000 ล้านต่อปี และปิโตรเลียมที่ได้รัฐจะต้องตั้งบริษัทพลังงานแห่งชาติที่รัฐถือหุ้น 100 % ขึ้นมาเป็นผู้ดูแลบริหารจัดการ.-สำนักข่าวไทย