กรุงเทพฯ 12 ก.ค. – ก.พลังงานยืนยันเกณฑ์วางหลักประกันถอนแท่นปิโตรเลียม “บงกช-เอราวัณ” เป็นไปตามกฎหมาย โดยผู้ได้สัมปทานต้องวางหลักประกันภายใน 120 วันหลังยื่นหนังสือเดือน เม.ย.62
นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวถึงการดำเนินการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมในแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชที่จะหมดอายุสัมปทานปี 2565 -2566 ว่า ทางกรมฯ ได้ส่งหนังสือให้ผู้ได้รับสัมปทานมาวางหลักประกัน โดยการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทางเชฟรอนฯ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณและโททาล ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนแหล่งบงกชได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานขอสงวนสิทธิ์ในเรื่องวางหลักประกันดังกล่าวและอาจจะยื่นอนุญาโตตุลาการให้ตีความเรื่องนี้หลังจากเดือนมิถุนายน 2562 ทางกรมเชื้อเพลิงฯ ได้ส่งหนังสือให้ผู้ได้สัมปทานวางหลักประกันภายใน 120 วัน หลังจากได้รับหนังสือ โดยแหล่งเอราวัณมีค่าประมาณการใช้จ่ายรื้อถอน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 200 แท่น) และแหล่งบงกช 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 100 แท่น ) โดยการประมาณการนี้ทางกระทรวงพลังงานได้ให้บุคคลที่ 3 เข้ามาร่วมประเมินมูลค่าที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มผู้ได้สัมปทานมีความเห็นเบื้องต้นว่าในแท่นขุดเจาะใดที่ไม่ต้องรื้อถอน ก็ไม่ควรต้องจ่ายค่ารื้อถอนในส่วนนี้ โดยการดำเนินการนี้เป็นไปตามข้อ 22 ของกฎกระทรวง เรื่องกำหนดแผนงาน ประมาณการ ค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม ซึ่งจะต้องให้เกิดความชัดเจนภายใน 2 ปีก่อนจะหมดอายุสัมปทานปิโตรเลียม
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการตีความทางกฎหมายที่แตกต่างกัน หากจะยื่นฟ้องฯ ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแง่ของกฎหมาย ซึ่งยอมรับว่าเรื่องการรื้อถอนนั้น เดิมกฎหมายเขียนไว้กว้าง ๆ แต่ได้มีการออกกฎกระทรวงรองรับไว้แล้ว โดยการวางหลักประกันค่ารื้อถอน ถือว่าเป็นไปตามหลักสากลที่กำหนด โดยยืนยันว่าไม่มีค่าโง่แน่นอน และเชื่อว่าผู้ประกอบการจะร่วมมือ เพราะเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย
“การวางหลักประกันค่ารื้อถอนเป็นไปตามหลักสากล แต่ค่าใช้จ่ายรื้อถอนจริงจะมีมูลค่าสูงหลักแสนล้านบาทหรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยร่วมกันระหว่างผู้ได้สิทธิ์รายใหม่ กรมเชื้อเพลิงฯ และรายเก่าต้องเข้าประเมินพื้นที่ ว่าแต่ละแท่นจะมีแท่นใดใช้งานต่อ หรือแท่นใดรื้อถอน โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม จะต้องหารือเพื่อให้มีข้อยุติโดยเร็ว” นายศิริ กล่าว.-สำนักข่าวไทย