กรุงเทพฯ 27 พ.ค. – “กุลิศ” กรองหนัก วางกรอบกติกาเข้ม งบกองทุนเอนุรักษ์ฯ เจอหลายโครงการก็อปปี้แผนงาน หลังเสนอวงเงินเกินกว่างบจัดสรรถึง 11 เท่า เตรียมสรุปเสนอ “สมคิด” เดือน ก.ค.
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีการสรุปยอดการยื่นข้อเสนอโครงการปีนี้มีจำนวนทั้งหมด 5,155 โครงการ วงเงิน 62,616 ล้านบาท ขณะที่กรอบการจัดสรรเงินกองทุนฯ มี 5,600 ล้านบาท หรือเกินจำนวนเงินที่มีประมาณ 11 เท่า ซึ่งหลายโครงการพบว่ามีการซ้ำซ้อน มีการทำแผนคล้ายคลึงกัน ลักษณะเป็นการดำเนินการแบบ COPY PASTE ดังนั้น จึงวาง 7 เงื่อนไขในการกลั่นกรองก่อนสรุปทั้งหมดภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อเสนอคณะกรรมการกองทุนฯ ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาอนุมัติสัปดาห์ที่ 4 และสามารถเบิกงบฯ ได้ภายในเดือนกรกฎาคม
“ปีนี้นับว่าสาหัสมาก มีผู้เสนอโครงการมากกว่าวงเงินถึง 11 เท่า และถูกจับจ้องมาโดยตลอดว่า มีความลำเอียงหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องวางเงื่อนไขรอบครอบให้รัดกุม เช่น แสดงผลสำเร็จ มีข้อผลด้านเทคนิคสร้างประโยชน์ต่อสังคม” นายกุลิศ กล่าว
สำหรับเงื่อนไข 7 ข้อ ในการพิจารณากลั่นกรอง ได้แก่ 1.เน้นโครงการที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 โดยมีผลลัพธ์ชัดเจน 2.เน้นโครงการที่มีข้อมูลทางเทคนิค แสดงผลประหยัด ระยะเวลาการคืนทุน 3.เน้นโครงการที่ผู้ขอยื่นรับการสนับสนุนไม่เข้าข่ายเป็นผู้ขอแทนกันในลักษณะที่ไม่ใช่เจ้าของหน่วยงานในสังกัดเดียวกัน 4.กรณีที่เป็นโครงการต่อเนื่อง ต้องมีรายงานแสดงผลการเบิกจ่ายของปีทีผ่านมา ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และมีรายงานผลความก้าวหน้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
5.ไม่สนับสนุนโครงการที่ขอดำเนินการลักษณะเดียวกับโครงการสาธิตริเริ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ หรือมีการดำเนินการมาก่อนหน้าแล้ว 6.กรณีเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนผลผลิตภาคการเกษตรจะต้องสามารถวัดผลได้ ว่ามีการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร 7.ทรัพย์สินที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ถือเป็นทรัพย์สินที่ผู้ได้รับการสนับสนุนจะต้องบำรุงรักษาต่อไป
นายกุลิศ ยังยกตัวอย่างว่า มีหลายโครงการที่ยื่นมาสูงมาก เช่น กลุ่มแผนเพิ่มประสิทธิภาพ 1,134 โครงการ วงเงิน 20,874 ล้านบาท (วงเงินจัดสรร 2,400 ล้านบาท) และแผนพลังงานทดแทน 4,021 โครงการ วงเงิน 41,743 ล้านบาท (วงเงินจัดสรร 3,200 ล้านบาท ) กลุ่มงานวิจัยและพัฒนามีวงเงินสนับสนุน 400 ล้านบาท แต่เสนอโครงการมา 5,000 ล้านบาท โครงการสาธิตและต้นแบบ มีเงินสนับสนุน 900 ล้านบาท แต่เสนอมาถึง 22,000 ล้านบาท กลุ่มสนับสนุนการลดต้นทุนและเศรษฐกิจฐานราก มีเงินสนับสนุน 3,600 ล้านบาท แต่เสนอมาถึง 32,900 ล้านบาท
“การลำดับความสำคัญจะเน้นให้กับโครงการภายใต้กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มเศรษฐกิจฐานรากภายใต้แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และแผนพลังงานทดแทน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทำให้เม็ดเงินกระจายอยู่ในจังหวัด ช่วยสร้างอาชีพ สร้างงาน และสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วง โควิด-19 ที่จะดูว่าจะมีการจ้างงานแก่นักศึกษาที่จบและตกงาน มาช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างไร” นายกุลิศ กล่าว.-สำนักข่าวไทย