กรุงเทพฯ 8 ก.ย.- ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ปี 61 เพิ่มเป็น 930 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เพราะรสชาติ บรรจุภัณฑ์ ทรงคุณค่า เป็นตัวกระตุ้นกำลังซื้อ ทดแทนการซื้อไปไหว้ตามประเพณีที่ถูกตัดทอนให้เหลือเท่าที่จำเป็นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดขนมไหว้พระจันทร์ ที่มีช่วงเวลาจำหน่ายสั้นๆ ประมาณ 1 เดือนก่อนเทศกาล ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 24 ก.ย.นี้ จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 930 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา และผู้ซื้อร้อยละ 12 ใช้เทคโนโลยีช่วยในการซื้อ โดยเฉพาะการสั่งซื้อทางสื่อโซเชียลและการใช้บริการการจัดส่งสินค้า โดยปีนี้ ยอดซื้อไปกินหรือไปฝาก มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 870 บาทต่อคน สูงกว่ากลุ่มที่ซื้อไปไหว้พระจันทร์ ที่ซื้อเฉลี่ยคนละ 640 บาท ยอดซื้อไปกินหรือไปฝาก สูงกว่าประมาณร้อยละ 20 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มคนชั้นกลางขึ้นไป ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตบางรายมีการพัฒนารูปแบบไส้และบรรจุภัณฑ์ที่มีความพิเศษ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีกับผู้ซื้อและผู้รับ ทำให้ผู้ขายได้ราคาขายต่อหน่วยเพิ่มขึ้น
ปัจจัยที่ผู้ซื้อขนมไหว้พระจันทร์สนใจต่อสินค้าของผู้ประกอบการอันดับ 1 คือสินค้าต้องมีความพิเศษแตกต่างจากรายอื่น มีสัดส่วนร้อยละ 53.7 ขณะที่ชื่อเสียงบริษัทมีความสำคัญลำดับ 2 ร้อยละ 34.1 และกระแสการกล่าวถึงในสื่อโซเชียลต่างๆเป็นอันดับ 3 สัดส่วนร้อยละ 29.3 โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการขนมไหว้พระจันทร์ที่แตกต่าง เนื่องจากวัตถุประสงค์การซื้อขนมไหว้พระจันทร์ของคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่เพื่อกินและเป็นของฝากญาติหรือลูกค้าองค์กร กลุ่มนี้ จึงสนใจและต้องการสินค้าที่มีความแตกต่างไปจากสินค้าที่มีวางขายทั่วไป โดยเฉพาะการคัดเลือกสินค้าที่นำไปเป็นของฝากบุคคลสำคัญ จะต้องทำให้ผู้ได้รับเกิดความประทับใจว่าสินค้านั้นถูกคัดสรรอย่างเอาใส่ใจเป็นพิเศษ ด้านไส้ของขนมไหว้พระจันทร์ก็มีพัฒนาการเอาใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพราะความแปลกใหม่ของขนมไหว้พระจันทร์ จะช่วยดึงกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ไม่ซื้อให้หันกลับมาซื้อ แต่โดยภาพรวมแล้วไส้ขนมไหว้พระจันทร์ที่นิยมยังคงเป็นไส้ดั้งเดิม อาทิ ทุเรียน พุทรา และโหงวยิ้ง แต่มีการพัฒนาผลิตขนมไส้แปลกใหม่และเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น อาทิ คัสตาร์ด ชาเขียว แมคคาเดเมีย
ปัจจุบัน ยังมีคนจำนวนมากที่ยังไม่เคยซื้อขนมไหว้พระจันทร์ เพราะ ไม่ได้ไหว้ ไม่ชอบทาน และสินค้ามีราคาสูงเกินไป ซึ่งกลุ่มคนที่ไม่ซื้อขนมไหว้พระจันทร์ เห็นว่า ปัจจัยทางด้านความแปลกใหม่ของไส้ที่ไม่มีในตลาดมีความสำคัญเป็นลำดับ 1 ที่จะกระตุ้นให้เกิดการซื้อ สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 41.7 รองลงมาคือราคาที่คุ้มค่าสัดส่วนร้อยละ 38.9 และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามสัดส่วนร้อยละ 16.7 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสินค้าที่บ่งบอกตัวตน ชอบสิ่งใหม่ๆ แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากเกินไป นอกจากตลาดในประเทศแล้ว ตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะคนเชื้อสายจีนจากประเทศต่างๆ เช่น นักท่องเที่ยวจากจีน ฮ่องกง สิงคโปร์และไต้หวัน เป็นอีกตลาดที่น่าสนใจที่ผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์ ที่อยู่ในทำเลแหล่งท่องเที่ยวอาจทำตลาดกระตุ้นยอดขาย สำหรับในปีนี้ผู้ประกอบการขนมไหว้พระจันทร์ อาจจะทำการตลาดขยายระยะเวลาการจำหน่ายออกไป จนถึงช่วงที่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยสูงในช่วงวันหยุดยาววันชาติจีน 1-7 ตุลาคม เพื่อเป็นของฝากของที่ระลึก โดยเฉพาะขนมไหว้พระจันทร์ที่ผลิตและวางจำหน่ายในโรงแรม หรือที่วางจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ
สำหรับปัจจัยเชิงลบที่กระทบต่อตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในระยะต่อไปข้างหน้าคือ การที่ลูกหลานจีน อาจจะไม่สืบทอดประเพณีของบรรพบุรุษต่อไป ทำให้การซื้อขนมไหว้พระจันทร์เพื่อจุดประสงค์การไหว้ลดลง ขณะที่ปัจจัยเชิงบวกคือการขับเคลื่อนของลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ซื้อไปกินและเป็นของฝาก ดังนั้น การสนับสนุนให้ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ ยังคงเติบโตต่อไปได้ในระยะข้างหน้า จะขึ้นอยู่กับการพยายามรักษาฐานผู้ซื้อกลุ่มเดิม ซึ่งอาจไม่ใช่กลุ่มที่ซื้อไปไหว้ เนื่องจากกลุ่มนี้มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ แต่จะเป็นกลุ่มที่ซื้อไปกิน/เป็นของฝากในปัจจุบัน และลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่ยังไม่เคยซื้อขนมไหว้พระจันทร์เลย สิ่งสำคัญที่จะช่วยรักษากลุ่มลูกค้าเดิม และขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ของตลาดขนมไหว้พระจันทร์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จะอยู่ที่การสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างและความประทับใจจากการซื้อสินค้า โดยเฉพาะการพัฒนารูปแบบสินค้าที่ฉีกไปจากกรอบเดิมๆ ทั้งทางด้านรสชาติ ไส้และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งสามารถทำได้ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการรายเดิม ที่มีโอกาสสร้างตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติมจากตลาดลูกค้าที่มีความภักดีต่อรสชาติและไส้ดั้งเดิมของสินค้าอยู่แล้ว รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ ที่อาจใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นช่องทางสื่อสารถึงผู้บริโภค รวมถึงลดอุปสรรคของการไม่มีหน้าร้านลงได้
นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สำหรับตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในระยะต่อไป อาจไม่ได้จำกัดอยู่แค่การสร้างโอกาสในการขายเท่านั้น แต่ข้อมูลต่างๆ ที่รวบรวมไว้อาจถูกนำมาใช้ในการบริหารจัดการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ซื้อ เพื่อนำมาปรับปรุงรูปแบบสินค้า ที่ตอบโจทย์ตรงความต้องการของผู้ซื้อที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้อาจใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการขยายโอกาสการจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์ของไทยไปยังตลาดต่างประเทศ เหมือนเช่นที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ในการนำเอาผลไม้ไทย เช่น ทุเรียน ขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลก จนสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นจำนวนมากเพียงชั่วข้ามคืน
กลุ่มคนรุ่นใหม่ คือ กลุ่ม Gen X และกลุ่ม Gen Y มีจำนวนรวมกันประมาณ 32.8 ล้านคน กลุ่มนี้ผู้ประกอบการสามารถที่จะเข้ามามีบทบาทในตลาดขนมไหว้พระจันทร์ ในฐานะกลุ่มที่ซื้อไปกินและเป็นของฝากได้ โดยเฉพาะมุมมองต่อสินค้าที่เน้นด้านคุณค่า และความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้รับมาก่อนปัจจัยด้านราคา จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจเข้าใจถึงความต้องการ และมองเห็นลู่ทางในการทำตลาดที่ต่างไปจากเดิม คนกลุ่ม Gen X กำลังเป็นกลุ่มหลักในการซื้อไปกินและเป็นของฝากให้กับลูกค้าธุรกิจ เนื่องจากกำลังซื้อ รวมถึงตำแหน่งในธุรกิจที่เป็นผู้ตัดสินใจซื้อขนมไหว้พระจันทร์เพื่อมอบให้กับลูกค้า และกลุ่ม Gen Y ที่กำลังซื้อน้อยกว่า แต่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในฐานะผู้ซื้อไปกิน/ฝากเพื่อน ซึ่งแม้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ จะมีความเข้าใจต่อวัฒนธรรมประเพณีของคนรุ่นก่อนที่เจือจางลง ตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เนื่องจากเอกลักษณ์ของขนมไหว้พระจันทร์ที่แตกต่างจากสินค้าทั่วไป อาทิ ระยะเวลาจำหน่ายที่ค่อนข้างจำกัด มีเฉพาะในช่วงเทศกาล ประกอบกับรสชาติและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงประโยชน์ในด้านการเป็นของฝาก ให้กับเพื่อนฝูงญาติมิตรและลูกค้าธุรกิจ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้สภาพตลาดขนมไหว้พระจันทร์เปลี่ยนแปลงไป จากหน้าที่ในฐานะขนมที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมประเพณี ปรับมาเป็นขนมทานเล่นหรือของฝากที่มีคุณค่าต่อผู้รับ . – สำนักข่าวไทย