กรุงเทพฯ 6 ก.ย.-เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 16 เดือน เช้านี้อยู่ที่ 33.53-33.55 บาท/ดอลลาร์ฯ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน รับเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากที่ประเมินไว้มาก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.53-33.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (09.47 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 16 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.54 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ยังคงอ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังจากที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาเมื่อคืนนี้มีสัญญาณอ่อนแอปะปน โดยแม้ว่าตัวเลข ISM ภาคบริการเดือน ส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์จะออกมาดีกว่าที่คาด แต่ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือน ส.ค. ก็เพิ่มขึ้นน้อยกว่าตัวเลขคาดการณ์ และมีการปรับทบทวนข้อมูลเดือนก่อนหน้าลงด้วยเช่นกัน สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 33.45-33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/67 ของยูโรโซน และข้อมูลตลาดแรงงานของสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานเดือน ส.ค.
ด้านนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.56-33.70 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม ทิศทางเงินดอลลาร์ (รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ) และโฟลว์ธุรกรรมซื้อ-ขายทองคำ ซึ่งเงินบาทมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 9.9 หมื่นตำแหน่ง แย่กว่าที่ตลาดประเมินไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเกิน 1.4 แสนต่ำแหน่ง โดยในช่วงดังกล่าวราคาทองคำก็ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้านระยะสั้นอีกครั้ง สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท ยอมรับว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราประเมินไว้มาก (หลุดโซนแนวรับ 33.75 บาทต่อดอลลาร์ ที่ประเมินไว้ในช่วงต้นสัปดาห์) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการปรับสถานะ (Cut Loss) ของผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง) โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงวันก่อนหน้า จากหลายปัจจัยทั้ง การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ และแรงซื้อสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงใกล้โซนแนวรับสำคัญ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้ชะตาแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ราคาทองคำ รวมถึงเงินบาทได้อย่างมีนัยสำคัญ. -517-สำนักข่าวไทย