สำนักข่าวไทย 30 ส.ค. -กทม.ยอมรับมีหลายโครงการในกรุงเทพฯทำลักษณะเช่นอุโมงค์รัชโยธิน แต่ก็ไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่มากพอในการตรวจสอบ ใช้ข้อมูลรายงานผู้รับเหมาช่วยยืนยัน
นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีการขนย้ายดินในแนวอุโมงค์รัชโยธิน ที่สำนักการโยธาได้มีหนังสือถึงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)อนุญาตให้ รฟม.ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม2558 พร้อมแนบเงื่อนไขที่ ระบุว่า ปริมาณดินขุดทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้างโครงการเป็นกรรมสิทธิของ กทม.ให้ รฟม.จัดทำบัญชีปริมาณดินส่ง สนย. แต่มีข่าวว่ามีการขนดินไปยังพื้นที่เอกชนนั้น กทม.และ กทม.ได้ประสานให้ รฟม.ทำหนังสือชี้แจงเรื่องดังกล่าวกลับมาโดยด่วนแล้ว
ล่าสุดจนถึงวันนี้ รฟม.ก็ยังไม่มีหนังสือชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นกลับมา ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้ กทม.ยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะฟ้องร้อง รฟม. หรือบริษัทผู้รับเหมา(อิตาเลี่ยนไทย) เพราะข้อมูลที่ กทม.มียังไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ ว่าดินที่เป็นข่าวหายไปจำนวนเท่าใด ใครเป็นคนนำออกไป ต้องรอไปพูดคุยกับตำรวจที่ สน.พหลโยธิน ที่เชิญเข้าไปให้ข้อมูลในเรื่องนี้ วันพรุ่งนี้( 31 ส.ค.) ประมาณ 13.00 น. แต่ก่อนจะพบตำรวจได้เชิญตัวแทน รฟม.มาชี้แจงในเบื้องต้นพรุ่งนี้เช่นกัน
สิ่งที่ กทม.สามารถทำได้ดีที่สุดในตอนนี้ คือ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหน่วยงานปลายทางที่แจ้งความประสงค์ขอรับดินจากการขุดอุโมงค์นี้ทั้งหมด 10 หน่วยงานว่า ที่ รฟม.แจ้งยอดตัวเลขมาได้รับดินตามที่แจ้งจริงหรือไม่ ขณะนี้ได้เริ่มลงพื้นที่ไปตรวจสอบบ้างแล้ว
นอกจากนี้ นายจิระเดช ยังกล่าวถึง เรื่องดินที่ได้จากการขุดจากโครงการต่างๆในพื้นที่กรุงเทพฯ แม้ทาง กทม.จะทราบจำนวนดินที่มีอยู่จากการคำนวนพื้นที่ แต่จำนวนที่ได้ก็เป็นแค่ปริมาณในเบื้องต้น เพราะดินทุกที่จะสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้ 10-20% จากที่คาดการณ์ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ สภาพของดิน ผู้รับเหมาอาจจะใช้ช่องโหว่ตรงจุดนี้นำดินจำนวนที่เกินไปจากการคำนวนไปใช้งานอย่างอื่นนอกเหนือจากการนำส่งไปที่หน่วยงานต่างๆที่แจ้งความประสงค์ขอดินจากทาง กทม.
“กทม. คงไม่มีจำนวนเจ้าหน้าที่มากพอที่จะตามไปตรวจสอบการขนดินทุกเที่ยว ทุกรอบ ของแต่ละโครงการ เพราะ กทม.ยึดถือตามรายงานที่แต่ละหน่วยงานนำมาส่ง ถ้าสามารถนำส่งได้ประมาณ 95-98% ถือว่าเป็นที่น่าพอใจแล้ว ถามว่าที่ผ่านมาดีรับรายงานเรื่องลักษณะแบบนี้มากน้อยขนาไหน ต้องบอกตามตรงว่าได้รับข้อมูลมาค่อนข้างมาก แต่เมื่อทราบ แล้วส่งทีมงานลงไปตรวจสอบตามโครงการที่อยู่ในความดูแลของเอกชน ทั้งการขอดูกล้องวงจรปิด หรือตรวจสอบเลขที่ทะเบียนรถจากทางโครงการ ก็มักจะไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเพราะไม่ใช่เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง ส่วนตัวมองว่าบริษัทผู้รับจ้างโครงการ อย่าง บริษัท อิตาเลี่ยนไทยฯ คงไม่ได้ตั้งใจให้เกิดเรื่องแบบนี้ เพราะบริษัทฯต้องการเดินหน้างานให้เสร็จตามกำหนด ก็คงต้องไปไล่ดูตรวจสอบว่าแท้จริงผิดที่จุดใด หากพบว่านำดินที่เป็นของหลวงไปจริง กทม.ก็ต้องดำเนินการตามกฏหมาย ”นายจิระเดช กล่าว.-สำนักข่าวไทย