กรุงเทพฯ 21 ส.ค. – นักวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องความปลอดภัยของเขื่อนยืนยันว่าน้ำจะไม่ล้นเขื่อนแก่งกระจาน และไม่มีสัญญาณเขื่อนจะรั่วหรือเลื่อนตัว รวมทั้งมีเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อนจะรายงานตลอดเวลาและต้องเพิ่มความถี่ในการสำรวจรอบเขื่อน
รองศาสตราจารย์สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานรากได้ทำวิจัยหัวข้อ การจัดลำดับความเสี่ยงของเขื่อนเพื่อการชลประทานในประเทศไทยเมื่อปี 2550 ซึ่งเขื่อนแก่งกระจานมีระดับความปลอดภัยในเกณฑ์ปกติ เขื่อนแก่งกระจานเป็นเขื่อนดินแห่งแรกของประเทศไทย เริ่มใช้งานมาตั้งแต่พ. ศ. 2509 มีอายุ 58 ปีแล้ว เป็นเขื่อนที่ไม่มีประตูระบายน้ำ ช่องทางส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร คือ ท่อใต้อ่างระบายน้ำได้วันละประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำ มีความจุ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และมีเขื่อนรองปิดช่องเขาซึ่งมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 2 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยผาก ความจุ 27.50 ล้าน และอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ ความจุ 47.20 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานออกแบบไว้ให้สามารถรับน้ำเข้าได้มากถึง 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยการออกแบบคำนวณจากปริมาณน้ำฝนน้ำท่า 100 ปี ส่วนอัตราระบายออกสูงสุด 1,380 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำ ไม่มีประตูระบายน้ำ หากระดับน้ำในอ่างเกินความจุต้องระบายผ่านทางระบายน้ำล้น หรือ Spillway
รองศาสตราจารย์สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า การก่อสร้างเขื่อนที่ไม่มีประตูระบายน้ำเป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างเขื่อนทั่วไป ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเขา ไม่เหมาะจะทำประตูน้ำ อีกทั้งมีการศึกษาก่อนก่อสร้างว่าไม่มีน้ำปริมาตรมากไหลเข้าในคราวเดียวบ่อย ๆ เมื่อน้ำถึงระดับเก็บกักจะไหลล้น Spillway ออกสู่แม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นวิธีการระบายน้ำที่ปกติเหนือสปิลเวย์ขึ้นไปยังมีพื้นที่รับน้ำจนถึงระดับสูงสุด ซึ่งมี Emergency Spillway หรือทางระบายน้ำฉุกเฉินอีกชั้นห่างกัน 3.67 เมตร รับน้ำได้มากถึง 190 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเทียบเท่ากับน้ำในเขื่อนขุนด่านปราการชลทั้งเขื่อน ทางระบายน้ำล้น 2 ชั้นจึงเพียงพอที่จะไม่ทำให้น้ำล้นถึงสันเขื่อนจนควบคุมการไหลของน้ำไม่ได้ อีกทั้งสันเขื่อนยังห่างจากทางระบายน้ำล้นปกติถึง 9 เมตร
จังหวัดเพชรบุรีซึ่งที่ตั้งเขื่อนแก่งกระจานเป็นรอยต่อของภาคกลางกับภาคใต้ จึงมีฝนนานกว่าพื้นที่ตอนบนของประเทศ เขื่อนแก่งกระจานรับน้ำจนเต็มศักยภาพมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยฝนที่ตกต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 17-20 กรกฎาคม ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเพียงวันเดียวมากถึง 160 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งพร่องน้ำออกด้วยวิธีพิเศษ คือ ทำกาลักน้ำเพื่อดึงน้ำออกจากอ่าง แต่ยังมีน้ำไหลเข้าอ่างตลอดจนเต็มความจุเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ซึ่งเขื่อนแก่งกระจานทำหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี เนื่องจากน้ำจากฝนที่ตกหนักจนมีปริมาณมากเช่นนั้น หากไม่มีเขื่อนแก่งกระจานจะเกิดน้ำท่วมรุนแรงมาก
สำหรับการบริหารจัดการนั้น รองศาสตราจารย์สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า จากการติดตามพบว่ากรมชลประทานได้พร่องน้ำออกจากเขื่อนแก่งกระจานตั้งแต่ต้นฤดูฝน โดยวันที่ 1 พ.ค. 61 มีน้ำเพียง 296 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ ซึ่งติดกับเกณฑ์ควบคุมน้ำต่ำสุด แต่การที่ฝนตกหนักต่อเนื่องมาก ทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างจนเกินความจุเก็บกักอยู่ที่ 737 ล้าน ลบ.ม คิดเป็น 104 % ของความจุอ่าง ซึ่งการบริหารจัดการที่ผ่านมาทั้งการพร่องน้ำด้วยกาลักน้ำ 22 ชุดออกแม่น้ำเพชรบุรีเสริมกระสอบทรายตามแนวคลองส่งน้ำในที่ลุ่มต่ำไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่นาข้าวและการเกษตร การเสริมกระสอบทรายจุดตลิ่งต่ำ 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีที่ยังไม่มีพนังกั้นน้ำ การเสริมตลิ่งคลองระบาย D9 ให้สามารถรับน้ำและระบายน้ำออกสู่ทะเลได้มากขึ้น เปิดทางน้ำผ่านจากคลองส่งน้ำลงสู่คลองระบายน้ำ ก่อนระบายลงสู่ทะเล จำนวน 19 จุด ใช้เขื่อนเพชรเป็นเครื่องมือหน่วงน้ำ ระบายน้ำในอัตราไม่เกิน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นอัตราที่ลำน้ำเพชรบุรีที่ไหลผ่านเมืองรับได้นั้นเป็นการบริหารจัดการที่เป็นไปตามหลักวิชาการ ฝนที่ตกหนักระลอกที่ 2 ห่างจากระลอกแรกเพียงไม่กี่วัน ทำให้มีเวลาพร่องน้ำจากอ่างและแม่น้ำเพชรบุรีน้อยทำให้วันนี้น้ำเกินความจุน้ำระบายผ่านเขื่อนเพชรเกินเกณฑ์เฝ้าระวัง ทำให้มีน้ำเริ่มมีน้ำล้นตลิ่งในตัวเมือง
รองศาสตราจารย์สุทธิศักดิ์ กล่าวถึงความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนแก่งกระจานว่า ตัวเขื่อนมีเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อนหรือ Dam Instument ซึ่งรายงานถึงแรงกดอัด การทรุดตัว หรือการเลื่อนตัวของเขื่อนตลอดเวลา หากเกิดขึ้นจริง อีกทั้งตามหลักการดูแลเขื่อน เมื่อมีน้ำมาก หน่วยงานที่รับผิดชอบจะเดินสำรวจรอบเขื่อน ตรวจหาความผิดปกติถี่ขึ้น แต่ทั้งนี้ยังไม่มีสัญญาณใด ๆ บ่งชี้ว่าจะเกิดภาวะเขื่อนพิบัติ ประชาชนจึงไม่ต้องตื่นตระหนก
ขณะนี้นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กำลังเร่งอำนวยการแก้ปัญหา เพื่อบรรเทาผลกระทบ ซึ่งในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างก่อนออกสู่ทะเล กรมชลประทานได้ใช้เครื่องผลักดันน้ำ 38 เครื่อง เร่งผลักดันน้ำจุดที่มีการระบายน้ำได้ช้า และจะใช้เครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งไว้ 31 เครื่องสูบน้ำที่เอ่อล้นออก นอกจากนี้ ยังเร่งลดระดับน้ำแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับน้ำ โดยใช้เรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือ 20 ลำ และจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา 6 ลำ ซึ่งติดตั้งบริเวณสะพานวัดคุ้งตำหนักเพื่อผลักดันน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด.-สำนักข่าวไทย