ทำเนียบฯ 10 ส.ค.-รัฐบาลยืนยันดูแลสถานการณ์น้ำได้ไม่หนักเหมือนปี 2554 ขณะที่อธิบดีกรมอุตุฯ ขออย่าตื่นตระหนกข่าวพายุเข้าไทย 3-4 ลูก ยันไม่เป็นความจริง
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมชี้แจงการบริหารจัดการแบบบูรณาการแก้วิกฤติน้ำท่วมในห้วงฤดูฝน ปี 2561
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ภาพรวมแนวทางการบริหารจัดการน้ำปีนี้ มีการป้องกันและแก้ปัญหาดีกว่าเดิม มีความชัดเจนในแนวทางปฎิบัติ โดยมีแผนรับมือ 2 ส่วนหลัก คือ 1.การเตรียมการล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ฤดูฝน รับสถานการณ์น้ำ สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำหลากรายภาค มีแผนเฝ้าระวัง ป้องกัน และเผชิญเหตุที่สอดคล้องกับสถานการณ์ และ 2.การบูรณาการข้อมูล พยากรณ์อากาศ ติดตามสภาพฝนและสถานการณ์น้ำ จัดทำแผนรองรับระดับความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยง ตั้งศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ในเขื่อนใหญ่ พบขณะนี้มี 8 เขื่อนอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ได้แก่ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนลำปาว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนปราณบุรี ซึ่งมี 2 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเกินกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ คือ เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร และเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีปริมาณน้ำถึง 103 เปอร์เซ็นต์ จึงสั่งการให้เร่งระบายน้ำ เตรียมช่วยเหลือท้ายน้ำ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการรับผิดชอบ
“ขอยืนยันว่า น้ำจากเขื่อนแก่งกระจานจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในตัวเมืองเพชรบุรี ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำโขงเริ่มมีสัญญาณที่ดี ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงเฝ้าระวังจากปริมาณฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า ซึ่งส่งให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น” นายสมเกียรติ กล่าว
นายทองเปลว กล่าวว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่หลายเขื่อนยังสามารถรับน้ำได้ และการระบายยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม หากมีฝนตกลงมามากในช่วงที่คาดการณ์ ได้จัดทุ่งบางระกำไว้รับน้ำ รวมถึงจะมีการผันน้ำจากจุดที่น่าเป็นห่วงออกจากพื้นที่หลัก ทั้งเขตชลประทานและลงแม่น้ำขนาดใหญ่ เช่น แม่น้ำโขง ดังนั้นอาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังบ้างในบางพื้นที่ แต่จะไม่มีน้ำท่วมใหญ่ หรือท่วมนานนับเดือน
ขณะที่ นายวันชัย กล่าวว่า ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกข่าวที่ว่าจะมีพายุเข้าไทย 3-4 ลูก เพราะไม่เป็นความจริง จากการคาดการณ์จะมีเพียงร่องมรสุมและความกดอากาศต่ำเท่านั้น ซึ่งจะทำให้มีฝนตกมากในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-กันยายน ในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และกลาง ที่ต้องเตรียมรับมือ รวมถึงการเร่งพร่องน้ำ จากนั้นช่วงกลางเดือนตุลาคม-ธันวาคม ฝนจะเริ่มตกในพื้นที่ภาคใต้ ปริมาณฝนไม่มากเท่าปี 2554 และความรุนแรงก็จะไม่เทียบเท่า เนื่องจากมีเขื่อนและพื้นที่ที่จะสามารถรับน้ำได้ อีกทั้งในระหว่างนี้ก่อนถึงปลายเดือนสิงหาคม ฝนจะทิ้งช่วง จึงมีเวลาที่จะระบายน้ำออกจากเขื่อน.-สำนักข่าวไทย