นครพนม 9 ส.ค.-ลำน้ำสงครามและลำน้ำก่ำ เป็น 2 สายหลักที่ไหลผ่าน จ.นครพนม ก่อนลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่ง 2 ลำน้ำนี้ มีลักษณะต่างกัน ทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำไม่เหมือนกันและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำ
แม่น้ำโขงช่วงไหลผ่าน จ.นครพนม ที่ลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อสถานการณ์น้ำท่วมใน 2 ลำน้ำสำคัญ ทั้งลำน้ำก่ำ และลำน้ำสงคราม ที่สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้สะดวกขึ้น แต่ความสะดวกของ 2 ลำน้ำ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ลำน้ำก่ำเป็นลำน้ำสายเล็ก ไหลผ่าน 2 จังหวัด คือ สกลนครและนครพนม ความยาว 123 กิโลเมตร มีประตูระบายน้ำ 4 แห่ง จึงสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ลำน้ำสงครามเป็นลำน้ำขนาดใหญ่ ไหลผ่าน 4 จังหวัด กว่า 400 กิโลเมตร ได้แก่ อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม โดยปลายน้ำเป็นจุดบรรจบของลำน้ำสาขาหลายสาย ในฤดูน้ำหลากเกือบทุกปี จึงมีปัญหาน้ำล้นตลิ่งไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่เกษตรเป็นวงกว้าง ปรากฏการณ์แม่น้ำโขงหนุนสูงปีนี้ ได้เพิ่มระดับน้ำ ทะลักเข้าท่วมที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม หนักสุดในรอบกว่า 20 ปี
ช่วงบ่ายที่ผ่านมา มีฝนตกโปรยปรายลงมา แต่ไม่นานก็หยุด จึงไม่มีผลต่อระดับน้ำ ซึ่งลดลงตลอด 3 วันที่ผ่านมา แต่มวลน้ำที่เข้ามามาก จึงไม่เห็นความแตกต่างมากนัก นอกจากมวลน้ำมหาศาล ลำน้ำสงครามยังมีข้อจำกัดการระบายน้ำ เพราะไม่มีอาคารบังคับน้ำในลำน้ำสงครามโดยตรง
เจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน ให้ข้อมูลว่า ลุ่มน้ำสงครามเป็น 1 ใน 23 ลุ่มน้ำที่อยู่ในประกาศแนบท้ายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าโครงการก่อสร้างในลำน้ำจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก่อน ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติอนุมัติงบประมาณศึกษาปี 2562
ทีมข่าวยังไปสำรวจผลกระทบใน ต.หาดแพง อ.ศรีสงคราม ล่าสุด บ้านหาดแพง หมู่ 1 ยังมีที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วมขัง 11 หลังคาเรือน บางจุดทางถูกตัดขาดกว่า 3 กิโลเมตร หลังน้ำลด ผู้ใหญ่บ้านเตรียมจัดพื้นที่สาธารณะให้ลูกบ้านทำนาปรัง เพื่อบรรเทาผลกระทบครอบครัวละ 3 ไร่
ในฤดูน้ำหลาก น้ำมามากเกินความต้องการ แต่หน้าแล้งชาวบ้านกลับขาดแคลนน้ำทำการเกษตร เป็นความจริงที่เจ็บปวดที่ผู้นำท้องถิ่นใน อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม อยากร้องขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดสรรงบประมาณสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า นำน้ำขึ้นมาหล่อเลี้ยงชีวิตในหน้าแล้ง.-สำนักข่าวไทย