กรุงเทพฯ 1 ส.ค. – รัฐบาลย้ำโครงการหลักอีอีซี 7 แสนล้านบาทจะได้ผู้ชนะการประมูลภายในสิ้นปีนี้ และเสนอ ครม.อนุมัติก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันในการสัมมนา “อีอีซี เดินหน้า เชื่อมโลกให้ไทยแล่น : โอกาสของนักลงทุนไทย” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า เพื่อเป็นหลักประกันว่าโครงการอีอีซี จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน รัฐบาลจึงยืนยันว่าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลัก 5 โครงการ มูลค่า 700,000 ล้านบาท จะสามารถได้ผู้ชนะการประมูลและมีการลงนามในสัญญาภายในเดือนมีนาคมปีหน้า จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะมีการเลือกตั้งต่อไป ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการรื้อโครงการของรัฐบาลใหม่
สำหรับ 5 โครงการหลัก ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยาน โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า โครงการอีอีซีของรัฐบาลภายใต้การนำพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีถือเป็นโครงการ ที่จัดทำขึ้นเพื่อทั้งภูมิภาคไม่เฉพาะคนไทยเพียงกว่า 60 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังรวมทั้งกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีขนาดตลาดรวมกัน 230 ล้านคน และหากรวมกับที่ประเทศไทยทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศศรีลังกาและเร็ว ๆ นี้ ประเทศบังกลาเทศก็มีความสนใจที่จะทำ FTA กับไทยด้วย ขนาดตลาดก็จะเพิ่มเป็น 400 ล้านคน และเมื่ออีอีซี เชื่อมโยงกับจีนและอินเดียที่มีประชากร 1,400 ล้านคนและ 1,200 ล้านคนตามลำดับด้วยแล้วก็จะทำให้ขนาดตลาดรวมเพิ่มเป็น 2,600 ล้านคน และยังเป็นภูมิภาคที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอีกด้วย ดังนั้น อีอีซีจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของไทย และไทยจะเป็นประตูทางการค้าสู่เอเชีย (Gate way) ขยายผลต่อจากการพัฒนาโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด
ปัจจุบันในสายตาของนักลงทุนมองว่าหากลงทุนในภูมิภาคเอเชียแล้วประเทศเป้าหมายการลงทุนอันดับ 1 คือ จีนขณะที่ไทยอยู่อันดับ 2 ของประเทศเป้าหมายในการลงทุน โครงการของอีอีซีจึงเข้ามาเสริมจุดนี้ได้เป็นอย่างดี
สำหรับความคืบหน้า 5โครงการโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และ สนามบินอู่ตะเภา ) กำหนดได้ผู้ชนะการประมูลในเดือนกันยายน 2561 ที่ขณะนี้มีเอกชนสนใจเข้าซื้อซองร่างขอบเขตการประมูล หรือ TOR จำนวนมากคาดว่าจะเสร็จภายในปี 2566 2.โครงการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา คาดออก TOR ภายในเดือนตุลาคม 2561 และกำหนดคาดเสร็จภายในปี 2564 3.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน กำหนดเสร็จปี 2564 4.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 กำหนดเสร็จปี 2567 และ 5.ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 กำหนดเสร็จปี 2568
นอกจากนี้ ในแผนการพัฒนาระยะ 5 ปีแรกจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเขตนวัตกรรมเขตพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตัล EECd และจะต้องมีการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา เพื่อรองรับแนวทางการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมชั้นสูงที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร จึงถือเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่อีอีซีรัฐบาลเร่งรัดให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ทั้งด้านกฎหมายอีอีซี การดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนในเรื่องสิทธิประโยชน์ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยภายในงานสัมมนาครั้งนี้มีภาคเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน และได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุนที่เป็นประโยชน์ รัฐบาลวางเป้าหมายพัฒนาพื้นที่อีอีซี ได้แก่ จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและใช้พื้นที่ดังกล่าวให้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่เชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศอาเซียน CLMV และเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (One Belt One Road) ในการยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทย ในอนาคต
“ขณะนี้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้เป็นอย่างดีที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมุ่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของไทยให้กับทุกภาคส่วน ทำให้คนไทยมีรายได้ที่สูงขึ้น เกิดอาชีพใหม่ และโอกาสด้านการลงทุนใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็กเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือไทยแลนด์ 4.0 และถือเป็นแนวทางที่สอดรับกับการขยายตัวของภูมิภาคเอเชีย และอาเซียน ที่คาดว่าในทศวรรษหน้าเอเชียจะเป็นตลาดที่มาแรง” นายคณิศ กล่าว
ทั้งนี้ จากแผนการพัฒนาพื้นที่อีอีซี คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนรวมทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท หรือ 49,900 ล้านเหรียญสหรัฐภายในระยะเวลา 5 ปี
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 มีนักลงทุนยื่นโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 280,000 ล้านบาท ตลอดปีนี้บีโอไอตั้งเป้าหมายว่าจะมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 720,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี รวม 180,000 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปีคาดว่าจะมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 300,000 ล้านบาท
ด้านการส่งเสริมการลงทุน บีโอไอได้วางมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนให้เกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ที่มากกว่าปกติของการลงทุนที่ผ่านมา ซึ่งจะเน้นให้สิทธิประโยชน์ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มอีก 3 ปีหลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ และการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น เมืองการบินภาคตะวันออก (สนามบินอู่ตะเภา) และการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECI) จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่ม 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ (รวมสิทธิประโยชน์เดิมเกิน 8 ปีได้ และลดหย่อนอีกร้อย ละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี)
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาอีอีซี เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยมีพัฒนาขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ความพร้อมของภาคเอกชนจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อนโยบายการลงทุนของประเทศ โดยการยกระดับภาคการผลิตในด้านต่าง ๆ ทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงยกระดับคุณภาพแรงงาน ให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเชื่อมั่นว่านโยบายการพัฒนาอีอีซี จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวด้านการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาไทยมากขึ้น
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออกปัจจุบันมีความชัดเจนเรื่องนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของไทยที่จะเป็นการสร้างโอกาสของประเทศเพิ่มมากขึ้นทั้งในอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ และการเพิ่มความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมหลักเดิม ที่จะส่งผลต่อมูลค่าทางการค้าและส่งออกของไทยเพิ่มสูงขึ้น จากความหลากหลายของสินค้าของไทยที่สามารถเจาะกลุ่มตลาดต่าง ๆ ในทั่วโลกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และบริการใหม่ ๆ ก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่จะใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ มาเชื่อมโยง กับประเทศในอาเซียน และภูมิภาคอื่น ๆ
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า รัฐบาลประกาศนโยบายลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งมีงบประมาณสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ซึ่งจะสอดคล้องตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่เติบโตทิศทางดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวของการส่งออก การท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอยของ ภาคประชาชน รวมถึงราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้น มาจากแรงหนุนจากการลงทุนของภาครัฐในโครงการต่าง ๆ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการพัฒนาอีอีซี ทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก และยังเป็นการสร้างรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตไปได้ด้วยดีและกระจายตัวไปยังเศรษฐกิจฐานรากอื่น ๆ อย่างเป็นรูปธรรม.-สำนักข่าวไทย