กรุงเทพฯ 22 ก.ค. – กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังการระบาดของโรคบรูเซลลา หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อ 12 ราย หนุนยกระดับฟาร์มปศุสัตว์ให้มีระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงปศุสัตว์ที่เหมาะสม
นายสัตว์แพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 พบผู้ป่วยด้วยโรคบรูเซลลาหรือโรคแท้งติดต่อในสัตว์ 12 ราย ในจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ราชบุรี สระบุรี และนครราชสีมา แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคระบาดสัตว์สอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยทำงานอยู่ในฟาร์มและโรงฆ่าสัตว์ มีประวัติสัมผัสสัตว์ป่วย ดื่มนมดิบ นำรกแพะที่ตกลูกแล้วตายไปประกอบอาหาร
สำหรับโรคบรูเซลลาเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Brucella spp ก่อโรคในโค กระบือ สุกร แพะ และแกะ สัตว์จะมีอาการข้ออักเสบและแท้งระยะท้าย ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ส่วนเชื้อที่ติดต่อถึงคนทำให้ป่วยรุนแรง คือ เชื้อ Brucella Melitensis ซึ่งเกิดในแพะและแกะโดยเฉพาะ ทำให้มีอาการแท้งระยะท้าย 1-2 ครั้ง หลังจากนั้นอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่สามารถทำให้ผู้สัมผัสดื่มนมดิบ หรือนำสัตว์ที่ป่วยตายมากิน คนที่ได้รับเชื้อนี้จะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อ ข้ออักเสบ โดยอาการจะเป็นๆ หายๆ หรือมีอาการต่อเนื่อง หากมีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์โดยด่วน แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อจากตับหรือนำไขกระดูกไปตรวจวินิจฉัย แล้วพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะรักษาต่อเนื่อง 6-8 สัปดาห์หรืออาจหลายเดือนขึ้นกับความรุนแรงของโรค
นายสัตว์แพทย์สรวิศ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์กำลังเร่งกำจัดโรคบรูเซลลาในแพะและแกะให้หมดจากประเทศไทย โดยทำโครงการฟาร์มปลอดโรคบรูเซลลาที่มีการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่การตรวจสอบโรคก่อนนำแพะแกะเข้าสู่ฟาร์ม ผู้สัมผัสสัตว์ต้องสวมชุดหรืออุปกรณ์ป้องกัน มีการฆ่าเชื้อโรคทั้งที่รองเท้าของคนและยานพาหนะที่จะเข้าฟาร์ม ขณะนี้มีฟาร์มแพะแกะที่ได้รับรองมาตรฐานฟาร์มปลอดโรคบรูเซลลาจากกรมปศุสัตว์แล้ว 333 ฟาร์ม นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังส่งเสริมโครงการจัดทำฟาร์มที่มีระบบการป้องโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFP) เพื่อป้องกันโรคระบาดจากสัตว์สู่สัตว์และสัตว์สู่คนโรคอื่น ๆ ด้วย
ส่วนกรณีพบโรคในสัตว์หรือในคน กรมปศุสัตว์จะนำตัวอย่างไปตรวจในห้องปฏิบัติการ หากพบเชื้อสัตว์ตัวนั้นจะถูกทำลาย ส่วนสัตว์ร่วมฝูงจะถูกกักและตรวจสอบโรคทุก 2 เดือน เป็นเวลา 3 ครั้ง จากนั้นให้ตรวจสอบโรคอีกครั้งใน 6 เดือน อีกทั้งยังร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้เกษตรกรหรือผู้ที่ต้องสัมผัสสัตว์ให้เข้าใจถึงสถานการณ์ของโรคและวิธีการป้องกัน ซึ่งขณะนี้สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคระบาดสัตว์กำลังออกตรวจสอบโรคและส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์ให้เป็นฟาร์มปลอดโรคบรูเซลลาทั้งหมดโดยเร็วที่สุด.-สำนักข่าวไทย