กทม.5 ก.ค.-เลขาธิการ สพฉ.ชี้ความร่วมมือทุกฝ่ายทำให้การช่วยเหลือเด็กมีประสิทธิภาพ ยกผู้ว่าฯเชียงราย ควบคุมสถานการณ์ บัญชาการเหตุการณ์ได้ดี เสนอให้มีการฝึกอบรมผู้นำจังหวัดให้พร้อมเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์หากเกิดเหตุการณ์วิกฤติ
เรืออากาศเอก นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ถอดบทเรียนเหตุการณ์ที่เยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่พร้อมผู้ช่วยโค้ชรวม 13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวง จ.เชียงราย โดยระบุว่า ก่อนอื่นขอแสดงความยินดีกับครอบครัวของทั้ง 13 คนที่เจ้าหน้าที่พบตัวและกำลังอยู่ในระหว่างนำออกมาจากถ้ำ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการทำงานของเจ้าหน้าที่หลายส่วน หากนำมาถอดบทเรียนจะเห็นถึงความสมบูรณ์และการเตรียมความพร้อมที่แม่นยำในการทำงาน
ส่วนที่ 1.การบริหารระบบในการให้ความช่วยเหลือเด็กๆทั้งระบบที่นำมาจากแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่มีการแบ่งหน้าที่กันทำงานและระบบบัญชาการเหตุการณ์ที่ชัดเจน สิ่งสำคัญที่สุดในระบบนี้ คือผู้บัญชาการเหตุการณ์คือผู้ว่าฯเชียงรายที่มีวิสัยทัศน์และสามารถควบคุมและสั่งการในเหตุการณ์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในอนาคตอาจจำเป็นจะต้องมีการฝึกผู้นำในแต่ละจังหวัดให้เตรียมพร้อมสำหรับการเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในลักษณะนี้ให้ได้
ส่วนที่ 2. คือการปฏิบัติงานภายใต้ระบบการสั่งการในเหตุการณ์ครั้งนี้ยังมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมาก โดยเฉพาะระบบการเลือกใช้ทรัพยากรบุคคลและการร้องขอหน่วยงานเข้าช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หน่วยซีล ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องการดำน้ำ และลักษณะการเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆเหมือนการเข้าไปช่วยตัวประกัน ถูกจับกุมและห้อมล้อมด้วยแม่น้ำจนไม่สามารถออกมาจากถ้ำได้
ทั้งนี้ ยังมีส่วนการทำงานของผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศกับผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยในหลายสาขา ซึ่งมีความน่าสนใจมากว่าการเชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านนั้นใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเชิญและระบบการทำงานร่วมกันนั้น ทำอย่างไรถึงได้การทำงานที่มีประสิทธิภาพออกมาเช่นนี้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการรวมทรัพยากรทั้งภาครัฐ ทหาร พลเรือน ประชาชน ภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆ ที่เข้ามาช่วยทำงานอย่างเป็นระบบและสนับสนุนกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังไม่นับรวมเรื่องการสนับสนุนในส่วนอุปกรณ์ดำน้ำ และแนวทางในการช่วยเหลือทางน้ำครั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องถอดบทเรียนกันด้วย เพราะตามปกติแล้วการดำน้ำทั่วไปจะเป็นการดำน้ำในพื้นที่กว้าง แต่การกู้ชีพเด็กๆครั้งนี้เป็นการดำน้ำในพื้นที่แคบจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าทำได้อย่างไรและมีระบบดูแลเจ้าหน้าที่ที่เข้าให้การช่วยเหลืออย่างไร เพราะในการดำน้ำปกติ ก็อาจป่วยจากการดำน้ำได้
“ส่วนการเตรียมการเรื่องการเคลื่อนย้ายเด็กๆ จะเห็นภาพการเตรียมการด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งประเทศไทยมีระบบกายสกายดอกเตอร์ขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อน คิดว่าเรื่องนี้จะมีส่วนทำให้การช่วยเหลือในครั้งนี้มีความพร้อมมากขึ้น หลังเหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีจะนำสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาถอดบทเรียนร่วมกัน แล้วทำเป็นต้นแบบในการช่วยเหลือประชาชนคนอื่นๆได้อีกในโอกาสต่อไป”เรืออากาศเอกนพ.อัจฉริยะกล่าว .-สำนักข่าวไทย