กรุงเทพฯ 19 มิ.ย. – กลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเป็นวงกว้าง เมื่อกรมราชทัณฑ์ประหารชีวิตนักโทษด้วยการฉีดสารพิษ หลังทิ้งช่วงไปนานถึง 9 ปี ทำให้เกิดคำถามว่า สังคมไทยยังควรมีบทลงโทษสูงสุดประหารชีวิต สำหรับผู้กระทำผิดร้ายแรงหรือไม่
ยืนยันเสียงแข็งชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับบทลงโทษสูงสุดประหารชีวิต โดยนักสิทธิมนุษยชนจากแอมเนสตี้ฯ ไปรวมตัวแต่งชุดดำ ชูป้ายข้อความไว้อาลัย แสดงความผิดหวังและเสียใจกับการตัดสินใจของรัฐบาลไทยที่ปล่อยให้มีการประหารเกิดขึ้น ที่หน้าเรือนจำบางขวาง ที่ที่ปลิดชีวิตนักโทษประหารรายล่าสุด หลังบทลงโทษนี้ทิ้งช่วงหายไปนานกว่า 9 ปี พร้อมย้ำว่า ถ้าสังคมไม่ต้องการเห็นความรุนแรง หรือการเข่นฆ่า ก็ไม่ควรใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา
ผลจากการประหารชีวิตครั้งนี้ หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีผลต่อภาพลักษณ์ประเทศ เพราะรัฐบาลไทยเคยลงนามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อเดือนสิงหาคม 2552 หากไทยไม่มีการลงโทษประหารชีวิตภายใน 10 ปี หรือเดือนสิงหาคม 2562 ซึ่งการประหารชีวิตครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ให้ถือว่าไทยได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปโดยปริยาย แต่จากลงโทษในครั้งนี้ ทำให้ข้อตกลงในปฏิญญาสากลฯ ต้องตกไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งหมายความว่า ไทยต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ หากจะเป็นประเทศที่ไม่มีการประหารชีวิต เว้นแต่มีการแก้ไขกฎหมายเอง
ประเด็นนี้นักกฎหมายมองว่า เป็นเรื่องดีที่จะไม่มีโทษประหาร แม้แต่ประเทศพัฒนามหาอำนาจอย่างอเมริกา หรือจีน ก็ยังคงมีโทษประหาร แต่ท้ายสุดบริบททางสังคมของแต่ละประเทศล้วนต่างกัน โทษสูงสุดที่ไทยกำหนดจึงถือว่าเหมาะสมกับคดี
สอดคล้องกับผู้นำประเทศและฝ่ายความมั่นคง ซึ่งย้ำว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย
ขณะที่ต้นเรื่องประเด็นร้อนอย่างกรมราชทัณฑ์ ยังไม่ออกมาให้ข้อมูลใดๆ เพียงย้ำสั้นๆ กับสื่อที่มารอทำข่าวว่า ไม่มีความเห็นใดๆ ในเรื่องนี้ และขอให้ยึดตามข้อเท็จจริงที่ได้ให้ข่าวไปแล้ว
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 ถึงปัจจุบัน มีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว จำนวน 325 ราย แยกเป็นใช้อาวุธปืนยิง 319 ราย รายสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 2546 และการฉีดสารพิษเข้าร่างกาย จำนวน 7 ราย เริ่มครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2546 และรายล่าสุด คือ วันที่ 18 มิถุนายน 2561. – สำนักข่าวไทย