หอประชุมกองทัพเรือ 15 มิ.ย. – กองทัพเรือและอีอีซี เปิดรับฟังความเห็น Market Sounding สนามบินอู่ตะเภา 200,000 ล้านบาท ก่อนทำทีโออาร์ คาดว่าจะได้รายชื่อเอกชนร่วมลงทุนต้นปี 62
พลเรือเอกนริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Market Sounding) โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี : เมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อนำเสนอข้อมูล นโยบาย และแผนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา สร้างการรับรู้และดึงดูดความสนใจให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการ พร้อมทั้งรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนและผู้ร่วมเสวนา โดยมีนักลงทุนให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน
พลเรือเอกนริส กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงกลาโหมตระหนักดีถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” จึงเร่งผลักดันการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็น “ท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ” เพื่อยกระดับสู่การเป็น “ศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub)” โดยการจัดงานครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลการศึกษารูปแบบและแนวทางการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ( PPP) และเพื่อพิจารณาร่วมกันถึงรูปแบบและแนวทางการร่วมลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งรูปแบบทีโออาร์ยังไม่สรุปว่าจะแยกรายโครงการย่อยหรือแบบรวมทั้งหมดในทีโออาร์ฉบับเดียวจะต้องรอฟังความเห็นการรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนวันนี้ (15 มิ.ย.) ก่อน
สำหรับความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการจัดงานครั้งนี้ จะนำมาประมวลเป็นแนวทางการลงทุนโครงการให้สามารถปฏิบัติได้จริง และจะมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนอีกครั้ง เพื่อจัดทำเอกสารและร่างการทำสัญญาระหว่างภาครัฐและเอกชน คาดว่าน่าจะได้รายชื่อเอกชนที่ร่วมลงทุนในโครงการประมาณต้นปี 2562
พลเรือเอกนริส กล่าวว่า รัฐบาลมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมารองรับให้การเชื่อมต่อสนามบินทั้ง 3 เป็นไปได้สะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนทั้งระบบถนนและสาธารณูปโภคอื่น ๆ ท่าอากาศยานอู่ตะเภาปัจจุบันรองรับเที่ยวบินประจำมีผู้โดยสารปีละ 2 ล้านคน และจะเพิ่มขีดความสามารถที่มีอยู่เดิมให้สามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 4 ล้านคนต่อปี และเพื่อรองรับ อีอีซี จึงมีโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภารองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยจะพัฒนาเป็น “ท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ” และเมื่อการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มได้สูงถึง 60 ล้านคนต่อปี โดยจะพัฒนาท่าอากาศยานและกิจกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ ประกอบด้วย การก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 อาคารคลังสินค้า ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางการบิน อาคารขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ เขตประกอบการค้าเสรีและศูนย์ธุรกิจการค้า ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการพัฒนาบุคลากร และเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันอีอีซีให้ประสบผลสำเร็จ สำหรับพื้นที่โครงการตั้งอยู่ในอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ครอบคลุมพื้นที่โดยรอบประมาณ 6,500 ไร่
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีมูลค่าลงทุนรวมประมาณ 200,000 ล้านบาท เป็น 1 ใน 5 โครงการในอีอีซี ส่วนโครงการอื่น ๆ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีการออกทีโออาร์เชิญชวนเอกชนไปแล้ว โครงการที่ 3 ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ของการบินไทย และ Airbus ซึ่งกำลังจะลงนามในสัญญาร่วมทุน และโครงการท่าเรือแหลมฉบังและโครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3
พลเรือเอกโสภณ วัฒนมงคล กล่าวว่า การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยาน เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสาร การขนส่งสินค้าและเที่ยวบินที่คาดว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต และเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อย่างสะดวกรวดเร็ว- สำนักข่าวไทย