กรุงเทพฯ14 มิ ย. – ผู้ว่าการ – สหภาพ กฟภ.ประสานเสียงไม่โอนผู้ใช้ไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไป บริษัทใหม่ RPS ตามแนวคิดรัฐบาล ด้านแผนพีดีพี ยังถกไม่จบนอกจากแบ่งรายภาคแล้ว ให้ กฟภ. สร้างโรงไฟฟ้า” มั่นคง” แต่จะเดินเครื่องได้ต้องแข่ง” ราคา”
นายสมชาย อักษรภักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภาคใต้ เขต 3 กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้เข้าพบนายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการ กฟภ.เพื่อรับทราบแนวคิด ถึงนโยบายรัฐบาลที่จะให้จัดตั้งบริษัท RPS (Regional Power System) เพื่อบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนายสกุลกล่าวว่า ยังไม่ได้ประชุมร่วมกับ 3 หน่วยงานที่จะร่วมทุนในการจัดตั้ง บริษัท RPS แต่ในเบื้องต้นไม่เห็นด้วยที่ จะให้ บริษัท RPS. ขายไฟฟ้าให้ชาวบ้านแทน กฟภ.และขออย่าให้พนักงานวิตก เพราะข่าวไม่ชัดเจนอาจเป็นการโยนหินถามทางก็ได้
“ท่านผู้ว่าการ กฟภ.ได้โทรศัพท์คุยกับ ผู้ว่าการ กฟผ.แล้ว และแจ้งว่าไม่เห็นด้วยที่จะโอนผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้5 แสนรายไปสังกัดRPS โดยควรอยู่กับ กฟภ. ต่อไป อย่างไรก็ตามไม่ขัดข้องในการร่วมมือส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวล200-300 เมกะวัตต์ ซึ่ง รายละเอียดทั้งหมด ระดับผู้บริหาร กฟภ., กฟผ. และผู้เกี่ยวข้องจะหารือกันปลายเดือนนี้”นายสมชายกล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาล จะวางกรอบจัดตั้งบริษัท RPS (Regional Power System) ให้เสร็จเดือน ก.ย.และเสนอครม.เห็นชอบ เดือน ธ.ค.2561เพื่อบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งเสริมให้จัดตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงใหม่อีก 120 เมกะวัตต์ โดยมีชาวบ้านร่วมทุน กรอบเบื้องต้น คือ กองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงานถือหุ้นร้อยละ51 ที่เหลืออีกร้อยละ 49 ทาง กฟภ. และ กฟผ.ถือหุ้นฝ่ายละครึ่ง โดยสหภาพแรงงาน กฟภ.ภาคใต้คัดค้านเรื่องนี้เพราะเกรงผลกระทบถึงผู้ใช้ไฟฟ้าและจะเป็นการแปรรูป กฟภ.โดยจะติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ด้านนายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ( พพ.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าว ทางกระทรวงพลังงานมอบหมาย กฟผ. ไปหารือคงต้องดูรายละเอียดต่อไป ส่วนเรื่องโซลาร์รูฟท็อปเสรี คาดว่าจะมีข้อสรุปทั้งหมดปลายปีนี้ เบื้องต้นตามนโยบายคงมีกำหนดปริมาณแต่ราคาขายจะต่ำเพราะเป้าหมายคือส่งเสริมให้มีการติดตั้งเพื่อใช้เอง แล้วขายส่วนเกินเข้าระบบ
ด้านนายทางรัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ( สนพ.) กล่าวว่า แผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาวหรือพีดีพีที่จัดทำใหม่และกำลังรับฟังความเห็นส่วนต่างๆกำหนดจัดทำเสร็จสิ้นเดือนกันยายนนี้ นอกจากจะพิจารณาแผนเป็นรายภาคแล้ว ยังมอบหมายให้กฟผ.พิจารณาว่าการสร้างโรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคงควรมีสัดส่วนเท่าใด และแต่ละภาคควรมีกี่โรงเช่น อาจจะ1-2 โรง เป็นต้น ดังนั้น กำลังผลิต กฟผ.ก็จะเพิ่มขึ้นจากส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าใหม่นี้จะได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือไม่จะอยู่บนหลักการค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญซึ่งโรงไฟฟ้าใดค่าไฟฟ้าต่ำจะถูกคำสั่งให้เดินเครื่องก่อน โดยประเด็นเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่หารือกันว่า สัญญาผลิตไฟฟ้าตามหลัก Must Take , Must Run ควรใช้หลักเกณฑ์ใด จึงเหมาะสม- สำนักข่าวไทย