กรุงเทพฯ 12 มิ.ย. – กบง.รับทราบแผน กฟผ.เตรียมสร้างโซลาร์ลอยน้ำ 1 พันเมกะวัตต์ในพื้นที่ 11 เขื่อนทั่วประเทศ เบื้องต้นจับมือเอสซีจี ใช้ทุ่นลอยน้ำ พัฒนาเทคโนโลยีในไทย ด้าน สนพ.ปฏิเสธลดกำลังผลิต กฟผ.เหลือ 1 หมื่นเมกะวัตต์ในแผนพีดีพีใหม่
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 8 มิถุนายนรับทราบตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอแนวทางดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ หรือโซลาร์ลอยน้ำขนาดใหญ่ แบ่งเป็น 3 ระยะ ซึ่งจะมีกำลังผลิตรวมกว่า 1,000 เมกะวัตต์
สำหรับระยะที่ 1 สนับสนุนความร่วมมือ (EGAT-SCG Collaboration Project) เป็นความร่วมมือระหว่าง กฟผ.กับบริษัท SCG เคมิคอลส์ จำกัด เพื่อเป็นการพัฒนาระบบทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยงโดยวิศวกรไทย เพื่อเป็นต้นแบบของการผสมผสานการผลิตไฟฟ้าระหว่างเซลล์แสงอาทิตย์ร่วมกับไฟฟ้าจากเขื่อน กำลังผลิต 500 kW ติดตั้งในพื้นที่เขื่อนท่าทุ่งนา จ. กาญจนบุรี เนื้อที่ 5 ไร่ คาดติดตั้งเสร็จเดือนธันวาคม 2561
ระยะที่ 2 การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ (Economic Scale Pilot Solar Floating Project) บนพื้นที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ พื้นที่ 450 ไร่ ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยประมาณ 89.53 ล้านหน่วยต่อปี และระยะที่ 3 กำหนดศักยภาพพื้นที่ติดตั้งใน 11 เขื่อนทั่วประเทศ ด้วยศักยภาพการผลิตรวมกว่า 1,000 เมกะวัตต์ (Potential Commercial Project) เพื่อกำหนดศักยภาพพื้นที่ติดตั้งทั่วประเทศ ภายใต้รูปแบบ Hybrid Firm จะเป็นการใช้พื้นที่ผิวน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่เป็นการแย่งพื้นที่เกษตรกรรม อีกทั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ยังสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงจากการอยู่ใกล้ผิวน้ำ
นายทวารัฐ ชี้แจงด้วยว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (Power Development Plan) หรือพีดีพีฉบับใหม่กำลังพิจารณาให้เสร็จสิ้นเดือนกันยายนนี้ โดยพิจารณาบนพื้นฐานต้นทุนไฟฟ้าไม่สูง การแยกพีดีพีเป็นรายภาค และให้ กฟผ.พิจารณาหลักเกณฑ์การมีโรงไฟฟ้าหลักเพื่อความมั่นคงแต่ละภาค ดังนั้น กรณีมีข่าวว่าจะมีการลดกำลังผลิตของ กฟผ.ยังไม่เป็นความจริง จากที่มีข่าวต้องทยอยลดกำลังการผลิตไฟฟ้าลงจนเหลือต่ำกว่า 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2579 โดยปัจจุบัน กฟผ.มีระดับกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 15,700 เมกะวัตต์ (เดือนมีนาคม 2561) ซึ่งบทบาทหน้าที่หลักของ กฟผ. คือ การรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ.-สำนักข่าวไทย