ทำเนียบฯ 28 พ.ค. – นายกรัฐมนตรีสั่งทุกหน่วยงานแจงข่าวเศรษฐกิจเชิงการเมือง รัฐบาลยืนยันไม่ปรับเพิ่ม Vat จากร้อยละ 7 ในปัจจุบัน ส่วนลูกจ้างใช้เงินนอกงบประมาณให้เสนอเป็นแพ็กเกจเหมือนกับกระทรวงสาธารณสุข มั่นใจแผนดูแลราคาน้ำมันรองรับปัญหาราคาพลังงานช่วงนี้ได้
พล.ท.สรรญเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปั่นกระแสข่าวเศรษฐกิจเชิงการเมืองในเชิงลบเริ่มออกจำนวนมากในช่วงนี้ เช่น กระแสข่าวปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 9-10 นับเป็นข่าวที่ออกมาวนเวียนเป็นประจำทุกปีที่การขยายเวลาใกล้ครบกำหนด ขณะที่กรมสรรพากรได้ชี้แจงในที่ประชุม ครม.วันนี้ยืนยันคงภาษีมูลค่าเพิ่มปัจจุบันยังดูแลเศรษฐกิจได้ นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งชี้แจงข้อมูลในส่วนที่รับผิดชอบ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน เช่น ปัญหาราคาพลังงานเพิ่มขึ้น รัฐบาลดูแลราคาน้ำมันดีเซลและราคาเบนซินหลายชนิดไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ผ่านกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงประมาณ 30,000 ล้านบาท ยังเพียงพอดูแลผลกระทบในช่วงนี้ได้ โดยเฉพาะราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนขนาดถัง 15 กิโลกรัม รัฐบาลอุดหนุน 50 บาท จึงทำให้ราคาปัจจุบันไม่เกิน 363 บาทต่อถัง
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวย้ำว่า มาตรการที่ดูแลอยู่ในปัจจุบัน เพียงพอรับปัญหาราคาพลังงานได้ เพราะราคาน้ำมันยังไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จึงไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางการคลังมาช่วยเหลือเพิ่มเติมในช่วงนี้
พล.ท.สรรญเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า การออกระเบียบว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างชั่วคราว ด้วยการใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อต้องการจัดระเบียบการจ้างงานลูกจ้างชั่วคราวที่ใช้เงินนอกงบประมาณของส่วนงานราาชการ เพื่อไม่ให้มีจำนวนข้าราชการเพิ่มขึ้นมากจนเป็นภาระต่องบประมาณและแผนบริหารจัดการ และปรับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้น การใช้เงินนอกงบประมาณ เช่น เงินรายได้จากคลินิกนอกเวลา รายได้จากสอนพิเศษนอกเวลาของโรงเรียน หากดำเนินการจ้างไปแล้วก่อนระเบียบจะออกมาให้ดำเนินการไปจนครบกำหนดอายุสัญญาจ้าง
ส่วนโรงพยาบาลปัจจุบันได้จ้างบุคลากรที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ อัตราจ้าง อาทิ แพทย์ 181 ราย ทันตแพทย์ 4 ราย เภสัชกร 202 ราย และพยาบาลบางส่วน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้ทำสัญญาตกลงกับกรมบัญชีกลางไปแล้วเป็นรายหน่วยงาน เพราะมีความจำเป็นต่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีจำนวมาก และหากหน่วยงานใดมีความจำเป็นลักษณะเดียวกัน เช่น โรงเรียนขาดแคลนครูสัญญาจ้างไม่เพียงพอต้องเสนอเป็นแพ็กเกจ ประเมินตามสัดส่วนนักเรียน ตามพื้นที่ และความสำคัญมาให้รัฐบาลพิจารณา เพื่อดูแลภาระงบประมาณและประสิทธิภาพการทำงาน.-สำนักข่าวไทย