สงขลา 20 เม.ย.- สถาบันทรัพยากรทะเลฯ มอ.ห่วงระบบนิเวศน์ท้องทะเลไทยหวั่นอนาคตวิกฤติ ระดมแก้ปัญหาขยะทะเลและไมโครพลาสติก ด้านนักวิชาการประมงเปิดข้อมูลสัตว์ทะเลตายส่วนใหญ่เป็นผลจากมนุษย์ มีทั้งขยะการท่องเที่ยว ชุมชน ครัวเรือน และประมง
ดร.พลชาติ โชติการ รองผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ฝ่ายนวกรรมวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิดเวทีสัมมนา “ขยะทะเลไทยและไมโครพลาสติกวิกฤติจริงหรือ” วันนี้ (20 เม.ย.) ที่โรงแรมบุรีศรีภู อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในโครงการพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนการบริหารงานวิจัยและจัดการความรู้จากการวิจัยในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเชิงบูรณาการปีงบประมาณ 2561 โดยมีนักวิชาการ นักวิจัย รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาขยะทะเล รวมทั้งการรับมือในอนาคต หลังจากสหประชาชาติพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศอันดับ 6 ของโลกที่มีการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุด ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และเศรษฐกิจ
นายสมเกียรติ ขอเกียรติวงศ์ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ข้อมูลปีที่ผ่านมาพบว่ามีสัตว์ทะเลตายจำนวน 518 ตัว ในจำนวนนี้กว่า 80 ตัว ได้รับผลกระทบจากขยะทะเลและไมโครพลาสติก โดยเฉพาะเต่าทะเลกินขยะทะเลเข้าไป รวมถึงถูกอวนหรือขยะพันตัว ส่วนไมโครพลาติกนั้นจะเข้าไปรวมอยู่กับห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเล ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาว สำหรับขยะทะเลเกิดจากกิจกรรมบนบกถึงร้อยละ 80 และเกิดจากกิจกรรมในทะเลเพียงร้อยละ 20 แต่ทั้งหมดล้วนเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ทั้งจากการทิ้งขยะครัวเรือนหรือชุมชน การท่องเที่ยว การประมง การขนส่งทางเรือและโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ประกอบกับการจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยบนบกที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีการไหลลงสู่ทะเลในที่สุด.-สำนักข่าวไทย